BAY กำไรปี 63 ลดจากตั้งสำรองฯเพิ่มรับศก.เปราะบาง คาดอีก 2 ปีกลับสู่ก่อนโควิดระบาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 21, 2021 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของธนาคารและบริษัทในเครือปี 2563 มีกำไรสุทธิจำนวน 23,040 ล้านบาท ลดลงจากระดับกำไรสุทธิ 32,748 ล้านบาทในปี 2562 และลดลง 14.5% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติในปี 2562 โดยเป็นผลมาจากการตั้งเงินสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่กลับมาในเดือนธันวาคม 2563 และความเปราะบางทางเศรษฐกิจ

สำหรับเงินให้สินเชื่อ เพิ่มขึ้น 0.8% หรือจำนวน 15,058 ล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 โดยสินเชื่อเพื่อรายย่อย และสินเชื่อเพื่อลูกค้า SME มีการเติบโต 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ปรับลดลง 1.5% ส่วนใหญ่เกิดจากการชำระคืนเงินกู้ของบรรษัทไทย ด้านเงินรับฝาก มีจำนวนทั้งสิ้น 1,834,505 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% หรือจำนวน 267,620 ล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากออมทรัพย์

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.47% ปรับลดลงจาก 3.60% ในปี 2562 โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อตามมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ลดลง 3,877 ล้านบาท หรือ 10.6% เมื่อเทียบกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการดำเนินงานตามปกติในปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ อยู่ที่ 42.52% ปรับดีขึ้นจาก 45.1% ซึ่งเป็นอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานตามปกติในปี 2562 สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กรุงศรียังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง ด้วยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ในระดับต่ำที่ 2.00% เทียบกับ 1.98% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ขณะที่มีอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แข็งแกร่งด้วยอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 175.12% เทียบกับ 163.82% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง อยู่ที่ระดับ 17.92% เทียบกับ 16.56% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายในปีที่ผ่านมา กรุงศรียังเดินหน้าผลักดันแผนเชิงยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ การเสริมสร้างประสบการณ์ลูกค้าผ่านกระบวนการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Customer Experience Enhancement) การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยศักยภาพด้านข้อมูล (Data-Driven Capabilities) กลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตร (Partnership Strategy) และการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ (Overseas Business Expansion) ซึ่งกรุงศรีสามารถดำเนินตามแผนสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากความสำเร็จของ Hattha Kaksekar Ltd. บริษัทไมโครไฟแนนซ์เครือกรุงศรีในกัมพูชาในการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ Hattha Bank Plc.

ความสำเร็จของกรุงศรีในการขยายฐานธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียนโดยการเข้าซื้อหุ้น 50% ในบริษัท SB Finance Company, Inc. (SBF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ Security Bank Corporation (SBC) หนึ่งในธนาคารชั้นนำของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ การลงทุนและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับ Grab ความสำเร็จของการเปิดตัว ?Kept? นวัตกรรมบริหารเงินบนช่องทางออนไลน์ที่ได้รับการตอบรับอย่างสูงจากกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น ทั้งนี้กรุงศรียังได้ปรับแผนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมุ่งเน้นมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง รักษาคุณภาพสินทรัพย์ และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอาคิตะ กล่าวว่า กรุงศรีมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีก่อนที่จะกลับไปสู่สภาวะก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 นอกจากนี้วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.5% ในปี 2564 จากฐานที่ต่ำซึ่งหดตัวลง 6.4% ในปี 2563 อีกทั้งคาดว่าการฟื้นตัวจะอยู่ในระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม

"ในปี 2564 ในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) ควบคู่ไปกับความแข็งแกร่งทางการเงิน กรุงศรีจะยังคงดำเนินงานตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบระมัดระวัง และดำเนินมาตรการความช่วยเหลือเชิงรุก เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมและกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างเต็มที่"

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินฝาก และเป็นหนึ่งในห้าสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.83 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.83 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.61 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 276.26 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.92% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 12.85%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ