CONSENSUS: โบรกเชียร์ซื้อ BBL เล็งผลงานปีนี้ดีขึ้นจากค่าใช้จ่าย-การตั้งสำรองฯลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 15, 2021 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ ต่างเชียร์"ซื้อ"หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) เล็งผลดำเนินงานปี 64 ดูดีขึ้น จากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและการตั้งสำรองฯต่ำกว่าคาด โดย BBL น่าจะตั้งสำรองในปีนี้ประมาณ 22,000 ล้านบาท ขณะที่ Loan Growth ราว 3-4%, NIM ปรับตัวลงต่อมาอยู่ที่ 2.1% จากปีก่อน 2.2% ขณะที่ NPL ยังคงปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 4.5%

BBL ยังมี upside หลัก ๆ มีข้อดีคือ Valuation ถูก หรือมี P/BV เพียง 0.5 เท่า หากเทียบกับกลุ่มแบงก์ รวมถึงคุณภาพสินทรัพย์ (Asset Quality) ดีกว่าแบงก์อื่น ถือเป็นจุดเด่น จากพอร์ตส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายใหญ่ (Corporate)

หุ้น BBL ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 125.50 บาท ลดลง 0.50 บาท(-0.40%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดเช้าพุ่ง 20.17 จุด

          โบรกเกอร์                       คำแนะนำ                ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)        ซื้อ                           160.00
          กสิกรไทย                          ซื้อ                           157.00
          เคจีไอ (ประเทศไทย)                ซื้อ                           156.00
          แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์                   ซื้อ                           151.00
          ทรีนิตี้                             ซื้อ                           151.00
          ทิสโก้                             ซื้อ                           150.00
          เคทีบีเอสที                         ซื้อ                           150.00
          หยวนต้า (ประเทศไทย)               ซื้อ                           150.00
          เอเชีย เวลล์                       ซื้อ                           142.50
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)                 ซื้อ                           131.00

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า BBL ในปี 64 คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดูดีกว่าที่ประเมินไว้ จาก 2 ส่วนหลัก คือ 1.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำกว่าคาด เดิมคาดว่าค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเทียบกับรายได้ 58% แต่ BBL คาดว่าน่าจะลดลงจากปีก่อนมาอยู่ราว 50% ต้น ๆ

และ 2. การตั้งสำรองที่ต่ำกว่าคาด โดย BBL คาดจะตั้งสำรองในปีนี้ประมาณ 22,000 ล้านบาท จากผลกระทบที่ลดลง ซึ่งเดิมได้ประเมินไว้ที่ 23,700 ล้านบาท ซึ่งได้ปรับผลกำไรปีนี้ขึ้น 25% มาที่ 2.67 หมื่นล้านบาท และปีหน้าขึ้น 14% มาที่ 2.94 หมื่นล้านบาท

ส่วนประมาณการอื่น ๆ ที่ BBL ทำไว้ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิเคราะห์ทำไว้ โดยมอง Loan Growth 3-4%, NIM ปรับตัวลงต่อมาอยู่ที่ 2.1% จากปีก่อนที่อยู่ 2.2% ขณะที่ NPL ยังคงปรับตัวขึ้นราว 0.5% มาอยู่ที่ 4.5%

ทั้งนี้ การประมาณการของ BBL ถือว่าเป็นไปตามหุ้นธนาคารพาณิชย์ตัวอื่น อย่าง Loan Growth ก็มอง 3-4% หรือ 3-5% จากการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจที่ให้กรอบใกล้เคียงกันที่ราว 2% แต่การคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ของ BBL ถือว่าสูงกว่าแบงก์อื่น ที่อยู่ราว 45-49% ส่วนคุณภาพสินทรัพย์จะคล้าย ๆ กัน ซึ่งทุกแบงก์มองว่า NPL ยังเพิ่มขึ้นอยู่แต่ไม่มากนักหลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปีก่อน และลูกหนี้สามารถกลับมาจ่ายคืนหนี้ได้ถึง 70-80%

"BBL ยังมี upside หลัก ๆ มีข้อดีคือ Valuation ที่ถูก หรือมี P/BV เพียง 0.5 เท่า หากเทียบกับกลุ่ม และแผนการเติบโตในระยะกลางไม่ได้ Aggressive เท่าแบงก์ขนาดใหญ่แบงก์อื่น เช่น SCB เป็นต้น รวมถึง Asset Quality ดีกว่าแบงก์อื่น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ BBL จากพอร์ตส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายใหญ่ (Corporate) ถึง 60% เมื่อเทียบกับแบงก์อื่นที่อยู่ราว 36-37% เท่านั้น"นายกรกช กล่าว

ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ได้ปรับประมาณการกำไร (EPS) ปี 64-65 เพิ่ม 5-7% จากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานและต้นทุนเครดิตปี 64 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจาก BBL บันทึกตั้งสำรองล่วงหน้า และค่าใช้จ่ายการรวมธนาคารครั้งเดียว 4 พันล้านบาทในปี 63 จึงปรับเพิ่มคาดการณ์ผลประกอบการดังกล่าว เพื่อสะท้อนเป้าหมายทางการเงินใหม่ คาดว่าผลประกอบการจะเพิ่มขึ้น 61% และ 16% ในปีนี้และปีหน้า

ขณะที่หุ้น BBL ซื้อขายที่ P/BV 0.5 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 2SD ความเสี่ยงที่สำคัญคือ NIM ต่ำกว่าคาดและการเสื่อมคุณภาพของสินทรัพย์

ส่วน บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เป้าหมายปี 64 ของ BBL เป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยคาด โดยรายได้จะถูกกดดันจาก NIM ที่ลดลง และการเติบโตของ non-NII ที่ต่ำ, ด้าน Credit Cost ที่ลดลงจะเป็นปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัว และด้วย BBL เป็นหุ้นที่มีการตั้งสำรองสูง ทำให้มองว่าการลดลงของ Credit Cost เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

ประเด็นที่ต่างจากที่คาดคือ NIM และการตั้งสำรอง โดยผู้บริหารคาดว่า NIM จะลดลงในช่วงที่มีดอกเบี้ยต่ำเช่นเดียวกับที่คาดไว้ แต่ปริมาณการลดลงสูงกว่าคาด ในขณะที่การตั้งสำรองคาดไว้ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท รวม Permata และการระบาดรอบ 2 แต่ BBL ไม่มีการเผยตัวเลขของสินเชื่อที่ขอรับความช่วยเหลือ แต่กล่าวว่าน้อยกว่ากลุ่ม (สูงสุดที่ 40%) เนื่องจากลูกค้าธนาคารเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก และมีเพียง 1% ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งดีกว่าธนาคารอื่นประกอบกับการตั้งสำรองที่สูงทำให้สามารถปรับลดการตั้งสำรองลงในอนาคตได้หากสถานการณ์ดีขึ้น

ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการโดยปรับลด Credit Cost ลง 8bps เป็น 92 bps สำหรับปีนี้ พร้อมทั้งปรับ NIM ลง 11bps เป็น 2.1% และปรับลดรายได้ค่าธรรมเนียมลงเป็น 3% ทำให้โดยรวมแล้วผลประกอบการจะเพิ่มขึ้น 0.3%, 0.7%, 1.1% สำหรับช่วงปี 64-66 ตามลำดับ และด้วยการตั้งสำรองสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ