ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ BAM ชุดใหม่ 1.5 หมื่นลบ.ที่ A-/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 11, 2021 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 9 ปี ที่ระดับ "A-" ด้วยเช่นกัน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความชำนาญและความเป็นผู้นำในตลาดบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงระดับการก่อหนี้และความสามารถในการสร้างรายได้ในระดับปานกลาง รวมถึงการกระจายตัวที่ดีของแหล่งเงินทุนด้วย

จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งโดยหลักคือความเสี่ยงในด้านการกำหนดราคาซื้อสินทรัพย์ ความเสี่ยงระดับมหภาค และการกระจุกตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความเชี่ยวชาญของบริษัทในการตั้งราคาซื้อและการกระจายตัวของประเภทสินทรัพย์และสถานที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์จะช่วยลดทอนความเสี่ยงดังกล่าวลงได้มาก

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประสบการณ์ยาวนาน อันดับเครดิตของบริษัทมาจากการที่บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งจากการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความเชี่ยวชาญในด้านสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สถานะความเป็นผู้นำทางการตลาดนั้นยังมาจากปัจจัยเกื้อหนุนจากการมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจและเงินทุนกับธนาคารที่หลากหลายและยาวนาน บริษัทยังมีประสบการณ์ที่ยาวนานและมีฐานข้อมูลที่กว้างขวางซึ่งช่วยทำให้บริษัทสามารถเลือกสินทรัพย์ได้ดีในราคาที่เหมาะสม

ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีสินทรัพย์รวมทั้งหมดอยู่ที่ 1.32 แสนล้านบาท คิดเป็น 54% ของส่วนแบ่งทางการตลาดเมื่อเทียบกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งหมดในประเทศไทย โดยสินทรัพย์ที่บริษัทบริหารประกอบไปด้วย เงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ (NPLs) 8.59 หมื่นล้านบาท สินทรัพย์รอการขาย (NPAs) 3.66 หมื่นล้านบาท และลูกหนี้ขายผ่อนชำระ 2.5 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะขยายเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ในระดับประมาณปีละ 3%

  • การก่อหนี้อยู่ในระดับปานกลาง บริษัทมีหนี้อยู่ในระดับปานกลางเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.16 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.91 เท่าในปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะคงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับที่ต่ำกว่า 2.50 เท่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าและอัตราการก่อหนี้ของบริษัทยังอยู่ภายใต้การควบคุมของข้อกำหนดจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับที่ต่ำกว่า 3.0 เท่าอีกด้วย นอกจากนี้ เงินสดจัดเก็บประมาณ 1.4-1.7 หมื่นล้านบาทต่อปีจะช่วยคุมอัตราดังกล่าวไว้ได้จากการที่เงินรับดังกล่าวจะสามารถนำไปซื้อสินทรัพย์ใหม่และลดภาระในการก่อหนี้ใหม่ได้บางส่วน
  • ผลประกอบการคาดว่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ในปี 2563 รายได้ของบริษัทได้รับผลกระทบจะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) การจำกัดการประกอบธุรกิจและการเดินทาง รวมถึงการหยุดทำการของกรมบังคับคดีในช่วงเดือน เมษายน - พฤษภาคม 2563 ทำให้การจำหน่ายสินทรัพย์รอการขายและธุรกรรมต่าง ๆ ของการบริหารจัดการลูกหนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงเดือนเมษายน - สิงหาคม 2563 สืบเนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ จากปัจจัยดังกล่าวทำให้บริษัทมีรายได้และเงินสดจัดเก็บลดลงในปี 2563 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถจัดเก็บเงินสดได้ 1.31 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าระดับปกติเล็กน้อยที่ 1.4-1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2559-2561

ในปี 2563 รายได้จากการบริหารจัดการลูกหนี้ (รายได้ดอกเบี้ยและกำไรเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้) ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับลดลง 47% มาอยู่ที่ 4.8 พันล้านบาท นอกจากผลกระทบจากโรคโควิด 19 แล้ว รายได้ที่ลดลงจำนวนมากนั้นเกิดจากธุรกรรมขนาดใหญ่มูลค่า 5.3 พันล้านบาทในปี 2562 ถ้าไม่รวมธุรกรรมดังกล่าว รายได้จากการบริหารจัดการลูกหนี้ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับจะลดลง 19% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรายได้จากสินทรัพย์รอการขาย (กำไรจากสินทรัพย์รอการขาย และดอกเบี้ยและกำไรจากการขายแบบผ่อนชำระ) ลดลง 19% มาอยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทได้ผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว จากการที่รายได้ของบริษัทเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 โดยเฉพาะในส่วนของสินทรัพย์รอการขายที่ปรับเพิ่มขึ้นจากกลยุทธ์ด้านราคาและกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ที่บริษัทนำมาใช้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการปรับตัวที่ดีขึ้นจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในปี 2564 จากการที่โครงการช่วยเหลือลูกหนี้และมาตรการการจำกัดการประกอบธุรกิจและการเดินทางได้สิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม รายได้และเงินสดจัดเก็บจากการบริหารจัดการลูกหนี้คงจะต้องใช้เวลาอีกหนึ่งปีเพื่อที่จะสามารถกลับไปสู่ระดับปกติได้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบางอยู่ ในด้านสินทรัพย์รอการขาย ทริสเรทติ้งคาดว่าการขายจะปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์ที่คลี่คลายขึ้นทำให้นักลงทุนพร้อมที่จะลงทุนและรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้

  • แหล่งเงินทุนที่กระจายตัวและความยืดหยุ่นทางการเงิน บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงและกระจายตัวจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารที่ขายลูกหนี้ด้อยคุณภาพให้แก่บริษัท แม้ว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทจะมีสภาพคล่องที่ต่ำ แต่เงินกู้ยืมส่วนใหญ่ของบริษัทก็เป็นเงินกู้ยืมระยะยาว บริษัทมีวงเงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ณ เดือนธันวาคม 2563 ตั๋วสัญญาใช้เงินคงค้างของบริษัทมีมูลค่าคงเหลืออยู่ที่ประมาณ 5.5 พันล้านบาท บริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวนประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 68% ของวงเงินดังกล่าวเป็นวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ นอกจากนี้ บริษัทยังเข้าถึงตลาดทุนโดยการออกจำหน่ายหุ้นกู้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีมูลค่าหุ้นกู้คงค้างอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท
  • สภาพคล่องที่เพียงพอ ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีวงเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 7.6 พันล้านบาทที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารต่าง ๆ บริษัทไม่มีประเด็นที่น่ากังวลอย่างมีนัยสำคัญต่อความไม่สอดคล้องกันของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สิน ณ เดือนธันวาคม 2563 เงินกู้ยืมของบริษัทเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวประมาน 97% ซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาน 6 ปีโดยเทียบกับอายุเฉลี่ยของสินทรัพย์ที่ 6-8 ปี บริษัทมีเงินกู้ยืมที่จะครบกำหนดชำระในปี 2564 อยู่ที่ประมาน 1.3 หมื่นล้านบาท โดย 4 พันล้านบาทเป็นหุ้นกู้ ซึ่งคาดว่าจะจ่ายชำระคืนโดยใช้กระแสเงินสดที่ได้รับจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายรวมไปถึงการออกหุ้นกู้ชุดใหม่
  • ความเสี่ยงในสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ถูกลดถอนด้วยการกระจายตัวของสินทรัพย์ บริษัทมีความเสี่ยงในด้านการกระจุกตัวที่ค่อนข้างมากในภาคอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันในลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่บริษัทลงทุน ดังนั้น สภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์จึงอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการทางการเงินของบริษัทเนื่องจากจะส่งผลต่อราคาและความสามารถในการขายอสังหาริมสินทรัพย์ที่บริษัทได้บังคับหลักประกันมา อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการกระจายตัวของสินทรัพย์ทั้งในด้านประเภทของหลักทรัพย์และสถานที่ตั้งจะช่วยลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง

ณ เดือนธันวาคม 2563 อสังหาริมทรัพย์ของบริษัทเมื่อพิจารณาจากต้นทุนคิดเป็นที่ดินเปล่าที่สัดส่วน 22% บ้านเดี่ยว 33% ในขณะที่ส่วนที่เหลือมีการกระจายตัวที่ดีในอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภท ในด้านสถานที่ตั้งนั้น อสังหาริมทรัพย์ของบริษัทจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในสัดส่วน 44% ในเขตภาคกลาง 17% และส่วนที่เหลือกระจายไปตามภาคต่าง ๆ นอกจากนี้ บริษัทยังมีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ใหม่ทุก ๆ ปี เพื่อช่วยให้บริษัทตั้งราคาขายสินทรัพย์ได้ใกล้เคียงกับราคาตลาดมากที่สุดด้วย

  • ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ยังเติบโตต่อเนื่อง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสร้างโอกาสให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งหลายในการได้มาซึ่งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จำนวนผู้ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 38 ราย ณ สิ้นปี 2558 เป็น 54 รายในปี 2563 โดยสินทรัพย์รวมของบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งหมดนั้นเติบโตขึ้นในอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้นที่ระดับ 9.69% ในช่วงระหว่างปี 2559-2563

การระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยและทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากสถาบันการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารพานิชย์ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงบริษัทเงินทุน เพิ่มขึ้นจาก 4.65 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เป็น 5.23 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 โดยอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.98% ณ สิ้นปี 2562 เป็น 3.12% ณ สิ้นปี 2563 ถึงแม้ว่าแนวคิดโกดังพักหนี้ หรือ Asset Warehousing จะทำให้ปริมาณสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งคาดว่าจะถูกจำหน่ายออกมานั้นปรับลดลง แต่ทริสเรทติ้งยังคงคาดว่าผู้ประกอบการในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ยังคงมีโอกาสอีกมากในการขยายสินทรัพย์ของตนเอง

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้

  • การซื้อลูกหนี้ด้อยคุณภาพใหม่จะอยู่ที่ระดับ 1.0-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี
  • อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า
  • เงินสดที่เก็บได้จากการบริหารสินทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาน 1.5-1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี
  • อัตราส่วนต้นทุนทางการเงินจะอยู่ที่ประมาน 3% ของเงินกู้ยืมเฉลี่ย
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 32%

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งและดูแลให้ระดับการก่อหนี้อยู่ในระดับปานกลางเอาไว้ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมั่นคงและอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ต่ำกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากสถานะในการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจในเชิงรุกโดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่า 2.75 เท่าอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือผลประกอบการทางการเงินของบริษัทถดถอยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ