ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร MM ที่ BBB- แนวโน้ม Negative

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 22, 2021 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.มัดแมน (MM) ที่ระดับ "BBB-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดในธุรกิจร้านอาหารและร้านอาหารบริการด่วนของบริษัทซึ่งมีการแข่งขันสูงและมีผู้ประกอบการหลากหลาย การทบทวนอันดับเครดิตยังคำนึงถึงภาระหนี้ของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายธุรกิจในต่างประเทศและผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงอันเป็นผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)อีกด้วย

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" นั้นสะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ซึ่งแม้จะมีพัฒนาการในเชิงบวกหลายประการ แต่ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งจะยังคงส่งผลกดดันต่อผลการดำเนินงานและสถานะความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัทต่อไป

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • โรคโควิด19 กระทบผลการดำเนินงานอย่างรุนแรง ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 โดยในประเทศไทยนั้น การหยุดชะงักของการดำเนินธุรกิจในช่วงที่มีการปิดเมืองและวิถีปฏิบัติในการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจร้านอาหารของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านอาหารในเครือคือ "เกรฮาวด์ คาเฟ่" (Greyhound Cafe ? GHC) และแบรนด์ที่เกี่ยวข้องซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารแบบรับประทานที่ร้าน ส่วนการหายไปของนักท่องเที่ยวจากมาตรการจำกัดการเดินทางและรูปแบบการทำงานจากบ้านก็ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของร้าน "โอ บอง แปง" (Au Bon Pain ? ABP) ด้วยเช่นกัน โดยยอดขายของทั้ง 2 ร้านดังกล่าวคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายของธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดของบริษัทรวมกัน ในขณะที่ร้านอาหารของบริษัทในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการปิดเมืองและปิดร้านอาหารหลาย ๆ ครั้งตามนโยบายในการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐในประเทศดังกล่าว

ในปี 2563 บริษัทมีรายได้ลดลง 24% จากปีก่อนหน้าโดยมาอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับ 3.1 พันล้านบาทในปี 2562 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลง 36% มาอยู่ที่ 354 ล้านบาทจาก 552 ล้านบาทในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการลดต้นทุนต่าง ๆ ของบริษัท รวมถึงการได้รับส่วนลดค่าเช่าพื้นที่ร้านจากผู้ให้เช่า และการสนับสนุนจากรัฐบาลในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสก็ช่วยบรรเทาผลกระทบที่กดดันรายได้ให้ลดลงไปได้บ้าง

  • รายได้และกำไรจะค่อย ๆ ฟื้นตัว ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากที่ความกังวลที่มีต่อการระบาดรอบ 2 ของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยคลายลง โดยทริสเรทติ้งคาดว่าร้านอาหารของบริษัทในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสจะกลับมาเปิดดำเนินงานได้อีกครั้งในช่วงต้นของครึ่งหลังของปีนี้หลังจากที่มีการกระจายวัคซีนในวงกว้าง

ภายใต้สมมติฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ระหว่าง 2.6-2.7 พันล้านบาทในปี 2564 และ 3-3.3 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566 และคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทซึ่งวัดจากอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 14%-16% ในช่วงปีประมาณการ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 350-400 ล้านบาทในปี 2564 และ 450-550 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566

ทั้งนี้ การแข่งขันที่รุนแรงและสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนไหวยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่สำคัญต่อการฟื้นกำไรของบริษัท โดยทริสเรทติ้งเห็นว่าผู้ประกอบการร้านอาหารอาจจำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการจัดกิจกรรมทางการตลาดและจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ในการนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าความนิยมใช้บริการส่งอาหาร (Delivery) ที่เพิ่มสูงขึ้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับบริษัทเนื่องจากการแข่งขันจะยิ่งรุนแรงขึ้นในขณะที่บริการส่งอาหารของบริษัทมัดแมนมีอยู่อย่างจำกัด

  • ความพยายามขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการกระจายธุรกิจไปในต่างประเทศ ในช่วงปลายปี 2560 บริษัทจึงได้ซื้อกิจการร้านอาหาร "Le Grand Vefour" ในกรุงปารีสซึ่งเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงและได้รางวัลดาวมิชลิน 2 ดวง และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน บริษัทยังได้เปิดร้านอาหารเกรฮาวด์ คาเฟ่ ซึ่งเป็นร้านที่บริษัทบริหารเองแห่งแรกในต่างประเทศที่กรุงลอนดอนด้วย แต่ผลการดำเนินงานของทั้ง 2 ร้านยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทคาดไว้และยิ่งอ่อนแอลงจากผลกระทบของโรคโควิด19 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับหุ้นส่วนทางธุรกิจคือ Mr. Guy Martin ซึ่งเป็นหัวหน้าเชฟของร้าน Le Grand Vefour เปิดร้านอาหารเพิ่มอีก 3 แห่งในกรุงปารีสในช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ "Pasco" "Augustin" และ "A-Noste" และยังมีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งในปีนี้อีกด้วย

บริษัทยังคงมีมุมบอกเชิงบวกในการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศในตลาดที่บริษัทเห็นว่ามีศักยภาพในการเติบโตที่ดีกว่าเมื่อธุรกิจกลับสู่ภาวะปกติหลังโรคโควิด 19 ทริสเรทติ้งมองว่าการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศจะเพิ่มความไม่แน่นอนให้แก่สถานะทางธุรกิจของบริษัทมากยิ่งขึ้นเนื่องจากสภาพแวดล้อมในการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ก็ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้มีมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากการขยายธุรกิจในต่างประเทศประสบความสำเร็จก็จะส่งผลให้บริษัทมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นและมีโอกาสในการเติบโตที่สูงขึ้น

  • ระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ระดับหนี้สินทางการเงินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งส่วนใหญ่มาจากการลงทุนขยายธุรกิจในต่างประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมาจากผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ด้วย ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 5.1 เท่าในปี 2563 เทียบกับ 2.7 เท่าในปี 2562

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานขั้นพื้นฐานที่คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะยังคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 5 เท่าในปี 2564 อันเป็นผลมาจากความสามารถในการสร้างผลกำไรที่มีแรงกดดันจากโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.5-4.2 เท่าในปี 2565-2566 เมื่อผลการดำเนินงานของบริษัทค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับปกติ โดยการคาดการณ์ดังกล่าวได้พิจารณารวมไปถึงประมาณการของทริสเรทติ้งที่บริษัทจะมีการลงทุนเป็นเงินจำนวนประมาณ 100-120 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566

ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีภาระหนี้ที่ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท โดยภาระหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีหลักประกันซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทอาจมีสถานะที่ด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน

หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ไม่เกินกว่า 3 เท่าโดย ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.14 เท่า นอกจากนี้ เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารของบริษัทยังมีเงื่อนไขสำคัญให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า รวมทั้งอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไม่ต่ำกว่า 1.2 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายไม่เกิน 3 เท่าด้วย โดย ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.14 เท่า 0.2 เท่า และ 4.33 เท่าตามลำดับ โดยบริษัทได้รับการผ่อนผันเงื่อนไขทางการเงินทั้งในส่วนของอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากธนาคารสำหรับปี 2563 แล้ว แต่บริษัทอาจจะผิดเงื่อนไขข้อกำหนดดังกล่าวได้และคงต้องขอรับการผ่อนผันจากธนาคารอีกครั้งในปี 2564 หากผลการดำเนินงานของบริษัทยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดได้

  • สภาพคล่องตึงตัว ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 600 ล้านบาท รวมทั้งยังมีภาระหนี้สินทางการเงินตามสัญญาเช่าที่ประมาณ 240 ล้านบาท และมีแผนการลงทุนอีกประมาณ 100-120 ล้านบาท ในขณะที่แหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยเงินสด ณ เดือนธันวาคม 2563 จำนวนประมาณ 165 ล้านบาท รวมทั้งจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 260 ล้านบาทและวงเงินกู้หมุนเวียนจากสถาบันการเงินที่เบิกใช้ได้อีกประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งบริษัทยังจะต้องหาแหล่งเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อทดแทนเงินกู้ก้อนใหญ่ที่จะครบกำหนดชำระอีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • บริษัทจะมีรายได้ประมาณ 2.6-2.7 พันล้านบาทในปี 2564 และ 3-3.3 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566
  • กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ 350-400 ล้านบาทในปี 2564 และที่ 450-550 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566
  • เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 100-120 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งว่าสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ที่แม้จะมีพัฒนาการในเชิงบวกหลายประการแต่ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปและมีความไม่แน่นอนซึ่งจะยังคงกดดันผลการดำเนินงานและสถานะความเสี่ยงทางการเงินโดยรวมของบริษัทต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ไม่ว่าจะเกิดจากผลกระทบในด้านลบที่ยืดเยื้อจากการระบาดของโรคโควิด 19 หรือจากการที่บริษัทลงทุนเชิงรุกโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่สูงเกินกว่าระดับ 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทริสเรทติ้งอาจเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" หากผลการดำเนินงานของบริษัทแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจนทำให้ระดับหนี้สินปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิมหรือใกล้เคียงกับประมาณการของทริสเรทติ้ง

ทั้งนี้ ตาม "เกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม" (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งนั้น การที่บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกหลักของ บมจ. ทรัพย์ศรีไทย (SST) จึงส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่มีต่ออันดับเครดิตของบริษัททรัพย์ศรีไทยก็จะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ