RATCH คาด Q2/64 ชัดเจนดีลซื้อโรงไฟฟ้า-ธุรกิจเกี่ยวเนื่องภายใต้งบลงทุนปีนี้ 7 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 14, 2021 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) กล่าวว่า บริษัทวางงบลงทุนการซื้อกิจการ (M&A) ในปีนี้ไว้ที่ 7,000 ล้านบาท จากงบลงทุนรวมทั้งหมด 15,000 ล้านบาท ส่วนอีก 8,000 ล้านบาทจะใช้ในโครงการเดิมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งในไตรมาส 1/64 บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 3,257 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นของ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) ในสัดส่วน 15.53% และลงทุนในโครงการพลังงานลมเน็กส์ซีฟ เบนเตร ในเวียดนาม เป็นต้น

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้า ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล และพลังงานทดแทน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ระบบสาธารณูปโภค เทรนด์สุขภาพ และโครงข่ายใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออฟติก) คาดหวังว่าจะสรุปความชัดเจนได้ภายไตรมาส 2/64

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 เบื้องต้นมองว่าในไตรมาส 1/64 ทำได้ค่อนข้างดี แม้มีการปิดซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าหลายแห่งตามแผนงานที่กำหนดไว้ เช่น โรงไฟฟ้า RG ระยะเวลา 47 วัน, โรงไฟฟ้าหงสา (HPC) ยูนิต 2 ระยะเวลา 28 วัน และโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอร์เรชั่น ระยะเวลา 14 วัน แต่บริษัทได้บริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่เหลือให้พร้อมจ่ายไฟอย่างต่อเนื่อง และบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น โดยหากไตรมาส 2/64 ไม่มีแผนการดำเนินงานอื่นๆ ก็น่าจะเป็นไปตามที่บริษัทวางเป้าหมายไว้

นายกิจจา กล่าวว่า บริษัทยังคงเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 700 เมกะวัตต์ จากปี 63 ที่มีกำลังการผลิตรวม 8,174 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนภายในช่วงสิ้นปีนี้เพิ่มเป็น 8,874 เมกะวัตต์

และกำลังการผลิตที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,215 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ 6,600 เมกะวัตต์ หลังโรงไฟฟ้า 4 โครงการ กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 537.04 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ภายปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน ในออสเตรเลียกำลังการผลิต 214.2 เมกะวัตต์ (บริษัทฯ ถือหุ้น 70%), โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ ในออสเตรเลีย กำลังการผลิต 226.8 เมกะวัตต์ (บริษัทฯ ถือหุ้นทั้งหมด), โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียวในอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 296.23 เมกะวัตต์ (บริษัทฯ ถือหุ้น 49%) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Ecowin ในเวียดนาม กำลังการผลิต 29.7 เมกะวัตต์ (บริษัทฯ ถือหุ้น 51%) บริษัทฯ คาดหวังว่า ทั้ง 4 โครงการนี้จะช่วยเสริมหนุนรายได้ของบริษัทฯ ในปีนี้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

"การดำเนินงานของบริษัทฯ ในปีนี้มุ่งเน้นการบริหารจัดการใน 3 ประเด็นหลักควบคู่กัน ทั้งการบริหารความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ที่ได้ลงทุนแล้ว เดินหน้าโครงการเป้าหมายที่มีอยู่ในมือเพื่อร่วมทุนให้สำเร็จ และการบริหารวางแผนทางการเงินให้รัดกุมเพื่อควบคุมต้นทุนและรักษาฐานะทางการเงินให้มั่นคงสามารถรองรับแผนการขยายการลงทุนของบริษัทฯได้ อีกทั้งบริษัทฯ ยังให้น้ำหนักการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเป็นสำคัญ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลงทุนในโครงการประเภทเชื้อเพลิงหลักในต่างประเทศ กำลังผลิตรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ และโครงการประเภทพลังงานทดแทนในต่างประเทศ อีกไม่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ส่วนการลงทุนในประเทศ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน รวมกำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์" นายกิจจา กล่าว

ส่วนกรณีบมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) ซึ่ง RATCH ถือหุ้น 15.53% มีผลประกอบการไตรมาส 1/64 ขาดทุน หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ บริษัทยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานมากนัก เนื่องจากได้ประเมินความเสี่ยงไว้หมดแล้ว และคาดว่าผลการดำเนินงานของ BAFS จะปรับตัวดีขึ้นได้ภายในปี 65 ขณะที่ผลกระทบโควิด-19 ต่อบริษัทโดยตรงนั้นไม่มีเช่นกัน

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/64 บริษัทมีรายได้รวม จำนวน 8,701.32 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า จำนวน 8,569.09 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนรายได้ของกลุ่มโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก 85% และกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 15% และรายได้จากระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และอื่นๆ จำนวน 132.23 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังคงเป้ามาร์เก็ตแคปแตะ 2 แสนล้านบาทในปี 68 จากปัจจุบันกว่า 1 แสนล้านบาท หลังขยายการลงทุนไฟฟ้า สาธารณูปโภค ซึ่งน่าจะช่วยผลักดันให้สัดส่วนรายได้กลุ่มสาธาณูปโภคขยับเป็น 20% ในปี 68 จากเดิมอยู่ที่ 5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ