CENTEL จัดงบ 1.04 หมื่นลบ.เดินหน้าลงทุนธุรกิจโรงแรม-อาหารในช่วงปี 64-66

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 20, 2021 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหาร บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) เปิดเผยว่า บริษัทจัดงบลงทุน (CAPEX) สำหรับปี 64-66 จำนวน 10,400 ล้านบาท ที่ใช้ลงทุนทั้งในธุรกิจโรงแรม 7,600 ล้านบาทและธุรกิจอาหาร 2,800 ล้านบาท

  • ปี 64 ใช้เงินลงทุน 2,900 ล้านบาท ใช้ในธุรกิจโรงแรม 1,900 ล้านบาท ธุรกิจอาหาร 1,000 ล้านบาท
  • ปี 65 ใช้เงินลงทุน 3,500 ล้านบาท แบ่งลงทุนธุรกิจโรงแรม 1,700 ล้านบาท ธุรกิจอาหาร 900 ล้านบาท และอีก 900 ล้านบาทเตรียมไว้ขยายงานหรือโครงการอนาคต
  • ปี 66 จัดสรรงบลงทุนไว้ราว 4,000 ล้านบาท ใช้ในธุรกิจโรงแรม 2,600 ล้านบาท ธุรกิจอาหาร 900 ล้านบาท และ 400 ลบ.เตรียมใช้ในโครงการที่จะขยายในอนาคต

สำหรับงบลงทุนในธุรกิจโรงแรมจะเน้นการใช้ปรับปรุงโรงแรมเดิม ส่วนการลงทุนธุรกิจใหม่จะมีทั้งในธุรกิจอาหารและธุรกิจโรงแรม การขยายสาขาธุรกิจอาหาร รวมถึงการลงทุนโรงแรมใหม่ที่มัลดีฟส์ 2 แห่ง ดูไบ 1 แห่ง โอซาก้า 1 แห่ง และ Cosi เชียงใหม่ ยังดำเนินการอยู่

นายรณชิต กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารในปีนี้ หรือช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รอบ 3 มีผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจอาหาร แม้ว่าจะมีการเร่งระดมการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ จากเดิมสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยประมาณการ GDP ของไทยในปี 64 จะเติบโตได้ถึง 2.5-3.5% แต่ก็ปรับลงมาที่ 1.8-2.3% หลังเกิดโควิดระบาดระลอกที่ 3 ขณะที่รัฐบาลพยายามจะเร่งอัดฉีดเม็ดเงินหลายแสนล้านบาท เช่น โครงการคนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน ยิ่งช้อปยิ่งดี เราเที่ยวด้วยกัน สินเชื่อโควิด-19 เพื่อกระตุ้นให้ GDP เพิ่มขึ้นมาอีกอย่างน้อย 0.2%

"ด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้ CENTEL คิดว่า การที่จะคาดการณ์ธุรกิจปีนี้ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจโรงแรมจะจบลงที่เท่าไหร่อาจจะทำให้นักลงทุนเอาไปตัดสินใจและเกิดการผิดพลาดได้ เพราะยังมีความผันผวน มีความไม่แน่นอนอยู่ ซึ่งก็คิดว่า เป็นการดีที่ไตรมาสนี้ CENTEL ของดที่จะให้ตัวเลขคาดการณ์ Overview ของปีนี้ "นายรณชิต กล่าว

ณ สิ้นไตรมาส 1/64 CENTEL มีจำนวนโรงแรม 44 แห่ง จำนวน 7,819 ห้อง แบ่งเป็นโรงแรมที่เป็นเจ้าของ 18 แห่ง มีจำนวน 4,443 ห้อง และโรงแรมที่รับบริหาร 26 แห่ง มีจำนวน 3,376 ห้อง ส่วนโรงแรมที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง (Pipeline) มีจำนวน 39 แห่ง จำนวน 9,341 ห้อง เป็นส่วนที่เป็นเจ้าของ 5 แห่ง มีจำนวน 1,562 ห้อง และส่วนที่รับบริหารโรงแรม 34 แห่ง จำนวน 7,779 ห้อง ดังนั้น รวมแล้ว Portfolio ในส่วนโรงแรมของบริษัทจะมีจำนวนโรงแรมทั้งหมด 83 แห่ง จำนวน 17,160 ห้อง โดยส่วนที่เป็นเจ้าของคิดเป็น 35%

ส่วนโรงแรมที่อยู่ใน Pipeline 39 แห่ง เป็นเจ้าของ 5 แห่ง ได้แก่ ดูไบ จำนวน 607 ห้อง คาดเปิดให้บริการในไตรมาส 4/64 ได้ตามแผน และในปี 66 เปิดอีก3 แห่ง, โอซาก้า ญี่ปุ่น มี 515 ห้อง, มัลดีฟส์ มี 310 ห้อง และ ในไทย 130 ห้อง (Cosi เชียงใหม่) ที่เหลือเป็นโรงแรมที่รับบริหารส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียน มีแผนเปิดปีนี้ 4 แห่ง ซึ่งก็จะต้องไป visit site ก่อนเข้าบริหาร ตอนนี้ยังติดขัดอยู่ เช่น ในเมียนมา ตุรกี ก็อาจจะเลื่อนออกไปก่อน

จากสถานการณ์การระบาดโควิด รอบ 3 ก็มีโรงแรมเปิดให้บริการ 8 แห่ง เป็นโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของ ได้แก่ ในกรุงเทพ พัทยา หัวหิน มัลดีฟส์ ส่วนในกระบี่และหาดใหญ่ได้ปิดไปก่อนตั้งแต่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนโรงแรมในภูเก็ต ยกเว้น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บีช รีสอร์ต ภูเก็ต ที่เปิดให้บริการอยู่ จะกลับมาเปิด 1 ก.ค.สอดคล้องกับการเริ่มภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ส่วนสมุย โรงแรมเซ็นทารา วิลล่าสมุย และ Cosi สมุย มีแผนเปิดในเดือน ต.ค.64

ในไตรมาส 2/64 ที่สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในเอเชียใต้ อาจเห็นการชะลอลงของโรงแรมในมัลดีฟส์ จากในไตรมาส 1/64 ฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนธุรกิจโรงแรมในไทยแทบไม่มีความเคลื่อนไหว แต่ไทยกำลังเตรียมการเปิดประเทศก็หวังว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นหลังเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

ส่วนธุรกิจอาหาร ณ สิ้นไตรมาส 1/64 มีจำนวนสาขารวม 1,054 สาขาของ 10 แบรนด์ ส่วนใหญ่ 63% อยู่ต่างจังหวัด เพิ่มขึ้นมา 26 สาขา ทั้งนี้รายได้จากแบรนด์หลัก 4 แบรนด์มาจาก KFC 55% Mister Donut 16% Auntie's Anne7% OOTOYA 7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ