กฟผ.ร้อง PTTรับผิดชอบกรณีส่งก๊าซฯคุณภาพต่ำทำต้นทุนโรงไฟฟ้าพุ่งพันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 25, 2007 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่าง บมจ.ปตท.(PTT), กฟผ. และกลุ่มผู้ก่อสร้าง เกี่ยวกับปัญหาคุณภาพของก๊าซธรรมชาติที่จะจัดส่งให้แก่โรงไฟฟ้าบางปะกงที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าข้อตกลง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นเกือบ 1 พันล้านบาท
"เรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของ ปตท.เพราะคุณภาพก๊าซธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปจากข้อตกลง ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเกือนพันล้านบาท เพราะผู้รับเหมาต้องปรับแต่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้สอดคล้องกับคุณภาพของก๊าซธรรมชาติ" นายไกรสีห์ กล่าว
โดยเมื่อปลายเดือน ก.ย.50 กฟผ.ได้ทำหนังสือถึง ปตท.ให้เร่งรัดแก้ปัญหาคุณภาพก๊าซธรรมชาติโรงไฟฟ้าบางปะกง เนื่องจากการประมูลก่อสร้างได้กำหนดคุณภาพก๊าซที่ ปตท.ได้แจ้งไว้ในช่วงแรก แต่เมื่อคุณภาพก๊าซเปลี่ยนแปลงไปทำให้การก่อสร้างล่าช้าไป 2-3 เดือน เพราะกลุ่มผู้รับเหมาต้องปรับแต่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตามคุณภาพก๊าซ แต่ยังมั่นใจว่าการก่อสร้างจะเป็นไปตามกำหนดเดิม
สำหรับความคืบหน้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่ง กำลังผลิต 2,800 เมกะวัตต์นั้น นายสมบูรณ์ อาระยะสกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้างโรงฟ้าพลังความร้อน กฟผ.กล่าวว่า การก่อสร้างได้ดำเนินการไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยจะสามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 51-53 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ส่วนปัญหาต้นทุนการก่อสร้างครั้งนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนและอินเดียเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าจนทำให้อุปกรณ์ก่อสร้างขยับสูงขึ้น แต่กลับได้รับผลดีจากเงินบาทที่แข็งค่ากว่า 10% เข้ามาช่วยให้ต้นทุนไม่เพิ่มขึ้น แต่ กฟผ.มีต้นทุนเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างแต่ละแห่งสูงกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเม็ดเงินลงทุนรวมทั้ง 4 โครงการ ประมาณ 64,000 ล้านบาท
โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา จะส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบเป็นแห่งแรก ซึ่งตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้รับเหมา คือ กลุ่มร่วมทุนซีเมนส์และมารูเบนิ จะสร้างเสร็จในเดือน มิ.ย.51 แต่จะเร่งให้เสร็จภายในเดือน มี.ค.51 เพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนในพื้นที่ในภาคใต้ได้อย่างเพียงพอและมีเสถียรภาพ เพราะปัจจุบันกฟผ.ต้องส่งกระแสไฟฟ้าต้องส่งมาจากภาคกลางเป็นหลัก ซึ่งจะมีความสูญเสียของระบบส่ง
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า แม้ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีปัญหาเรื่องความไม่สงบ แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้รับความร่วมมือที่ดีจากประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานความมั่นคง ทำให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งหากเสร็จแล้วจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้า ขณะเดียวกันจากการการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ทำให้มีเงินทุนให้ชาวบ้านนำไปพัฒนาพื้นที่ประมาณปีละ 30-40 ล้านบาท
ส่วนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุด 3 ที่ก่อสร้างโดยกลุ่มร่วมทุนมิตซูบิชิและชิโนไทย ขณะนี้สามารถก่อสร้างได้เร็วกว่าแผนเช่นกัน โดยคาดว่าจะส่งไฟฟ้าเข้าระบบเร็วกว่าสัญญาในเดือน ต.ค.51, โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุด 5 ที่ก่อสร้างโดยกลุ่มร่วมทุนซีเมนส์และมารูเบนิมีความคืบหน้า 50% มีกำหนดส่งเข้าระบบในเดือน มี.ค.52, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 ที่ก่อสร้างโดยกลุ่มร่วมทุน ซูมิโตโม ฮิตาชิ และอิตาเลียนไทย มีความคืบหน้าประมาณ 10% มีกำหนดส่งเข้าระบบในเดือน มี.ค.53

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ