ส.ธนาคารไทย ผนึก ส.ค้าปลีก ออกมาตรการช่วยเหลือคู่ค้า SME ฝ่าวิกฤติโควิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 31, 2021 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 สร้างความรุนแรง และขยายวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศในช่วงไตรมาส 2/64 และไตรมาส 3/64 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์

ดัชนีชี้วัดในช่วงเดือนพ.ค.นี้ เช่น ดัชนีของ Google ที่วัดกิจกรรมการจับจ่ายใช้สอยตามห้างร้านและพักผ่อนหย่อนใจของครัวเรือน หรือ Retail & Recreation นั้นลดลงถึงกว่า 30% เมื่อทียบกับช่วงเดือน มี.ค.64 เป็นต้น ในเดือนพ.ค.นี้ ทาง กกร.จึงได้ปรับลดการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 64 เหลือเพียงขยายตัวในกรอบ 0.5-2.0% ซึ่งตัวเลขนี้ได้รวมผลลัพธ์จากมาตราการของรัฐบาลที่ได้มีการประกาศออกมาแล้วด้วย

"ความรุนแรงของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ประกอบการ ภาคธนาคาร และภาคประชาชนที่ต้องร่วมมือกันช่วยเหลือประเทศในทุกๆด้าน เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ซึ่งเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ การทำให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด เราจึงได้เห็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมกลไกของกระทรวงสาธารณสุขในการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมการระบาดสูงสุด ผ่านโครงการ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" โดยได้เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 จุดทั่วกรุงเทพฯ หนึ่งในนั้นมีห้างสรรพสินค้าในเครือของเดอะมอลล์กรุ๊ปถึง 4 จุด คือ เดอะมอลล์บางกะปิ เดอะมอลล์บางแค สยามพารากอน และดิเอ็มโพเรียม"นายผยง กล่าว

นอกจากการเข้าไปมีส่วนในการกระจายวัคซีนแล้ว การช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็เป็นเรื่องที่เร่งด่วนเช่นเดียวกัน ทางสมาคมธนาคารไทยตระหนักว่าหัวใจของเศรษฐกิจในประเทศ คือ ภาค SMEs จะเผชิญกับความยากลำบาก ไม่ใช่เฉพาะช่วงนี้ แต่รวมไปถึงการฟื้นฟูกิจการภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

สมาคมธนาคารไทย ภายใต้ความร่วมมือกับธปท. ได้เร่งหารืออย่างใกล้ชิดกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อช่วยลูกค้าประคองกิจการ รักษาการจ้างงาน เพื่อให้สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยมี 2 มาตรการหลัก ได้แก่

1.มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีใน 2 ปีแรก ช่วยเหลือลูกค้าทั้งรายเดิม และรายใหม่ มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อยหรือบสย. สนับสนุนการค้ำประกัน โดยธนาคารพาณิชย์สมาชิกสมาคมฯ จะเร่งดำเนินการตามมาตรการนี้ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งเป้าระยะ 6 เดือนแรก คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูประมาณ 1 แสนล้านบาท

2.มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราว ในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชำระหนี้และได้รับสิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคต

นอกจาก 2 มาตรการนี้แล้ว ยังได้หารือใกล้ชิดกับภาคธุรกิจเพื่อจัดหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นรายธุรกิจ ผ่านกลไกที่แต่ละธนาคารมี เริ่มจากธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ในการช่วยให้เม็ดเงินจำนวนมากหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการเกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย

โดยกลุ่มธุรกิจการค้าและบริการมีผู้ประกอบการ SMEs เกี่ยวข้องถึง 2.5 ล้านราย หรือประมาณ 81% ของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมด และยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุดถึง 9 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 77% ของการจ้างงานในภาค SMEs หรือมากถึง 54% ของการจ้างงานทั้งหมด

ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีก สมาคมธนาคารไทย จึงได้ร่วมกับธปท. สมาคมค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย เร่งพัฒนาสร้างระบบ Digital Supply Chain Platform เพื่อเพิ่มแนวทางในการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าปลีกตลอด Supply Chain ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นของผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นคู่ค้าของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก มาประกอบการพิจารณาสินเชื่อของภาคธนาคาร ซึ่งการเป็นคู่ค้าของธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่มายาวนาน ทำให้ธนาคารเห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการ มีข้อมูล เข้าใจธุรกิจ ประเมินความเสี่ยงได้ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเพื่อให้มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจต่อไปได้อีกแนวทางหนึ่ง

ความร่วมมือของภาคสถาบันการเงินกับเดอะมอลล์กรุ๊ป ภายใต้โครงการ "ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ" นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคู่ค้า และพันธมิตรของเดอะมอลล์กรุ๊ปกว่า 6,000 ราย สามารถเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆที่แต่ละธนาคารมีอยู่ การมองความเชื่อมโยงแบบครบภาพระหว่างผู้ค้ารายใหญ่อย่าง เดอะมอลล์ กับผู้ค้ารายเล็กที่อยู่ในระบบนิเวศ รวมไปถึง supplier ที่เชื่อมโยงกันในเรื่องของสภาพคล่อง เชื่อว่าจะทำให้สินเชื่อฟื้นฟูทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

สำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์กรุ๊ปที่สนใจเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ สามารถติดต่อธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้ทุกสาขา สำนักงานธุรกิจทุกแห่ง เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ดูแลท่าน หรือสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือมาตรการที่สอดคล้องกับความต้องการของท่านได้ทุกวัน

ส่วนของธนาคารกรุงไทย (KTB) ได้มี 2 มาตรการ ที่จะเข้ามาสนับสนุนการฟื้นฟูและฟื้นตัวของ SMEs ได้แก่

1. สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโดยเป็นวงเงินกู้ระยะยาวอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก หรืออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรกโดยมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และยังสามารถได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบสย. เปิดกว้างให้ทั้งกับลูกค้ารายเดิม และลูกค้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นลูกค้าธนาคารมาก่อน

2. สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนสำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์กรุ๊ป ซึ่งเป็นวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี โดยให้วงเงินตามธุรกรรมการค้า ใช้หลักประกันต่ำ และได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ สามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันร่วมกับการใช้หลักทรัพย์อื่นได้ และลูกค้าก็สามารถขอสินเชื่อโดยไม่มีหลักประกันได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจและความต้องการใช้วงเงินของคู่ค้า มาตรการนี้ เปิดกว้างให้ทั้งกับลูกค้ารายเดิม และลูกค้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นลูกค้าธนาคารมาก่อน

"จากความร่วมมือในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก ตลอดทั้ง Supply Chain สามารถประคองธุรกิจ รักษาการจ้างงาน และลดภาระทางการเงินในช่วงนี้เพื่อให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โดยธนาคารพร้อมช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจให้เข้าถึงสภาพคล่องอย่างเต็มที่ หลังจากนี้ สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ภายใต้นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังคงติดตามสถานการณ์และดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์ สามารถปรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างตรงจุดทันท่วงที เพื่อที่เราจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน"นายผยง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ