KKP ปรับเพิ่มเป้าสินเชื่อปีนี้เป็นโต 8-12% จากเดิม 5% หลังครึ่งแรกดีกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 29, 2021 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับเป้าสินเชื่อในปี 64 เติบโตขึ้นเป็น 8-12% จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโต 5% หลังจากสินเชื่อในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาทำได้ดีกว่าคาด โดยขยายตัวสูงถึง 6.6% จากการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยความต้องการสินเชื่อของกลุ่มลูกค้าดังกล่าวกลับมาเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อในครึ่งปีแรกเติบโตได้ดีกว่าที่ธนาคารคาดไว้

ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารยังคงเดินหน้าการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง แต่อาจจะมีความระมัดระวังมากขึ้น หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันยังไม่คลี่คลายลง และกระทบกับกลุ่มลูกค้าในบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดของภาครัฐ

นายอภินันท์ กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังนั้นจะเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นหลัก ที่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อ และยังเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ลูกค้าไม่ค่อยมีปัญหาในการผ่อนชำระ โดยที่ยังคงเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้เป็นเงินเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มากนัก และเป็นกลุ่มที่ยังมีความต้องการสินเชื่ออยู่

ขณะที่สินเชื่อของกลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจ ยังเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ยังมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น จากความสามารถและมีความพร้อมในการลงทุน ซึ่งในช่วงนี้ที่โควิด-19 มีการแพร่ระบาดอยู่ ถือเป็นโอกาสที่ธุรกิจขนาดใหญ่เข้าลงทุนหรือเข้าซื้อกิจการ ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนมากขึ้น

ส่วนกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะยังมีการใช้สินเชื่ออยู่เช่นเดียวกัน แต่อาจจะชะลอลงจากครึ่งปีแรก หลังผู้ประกบอการอสังหาริมทรัพย์อาจจะมีการปรับลดการเปิดโครงการในครึ่งปีหลัง ทำให้การเบิกใช้สินเชื่อเพื่อลงทุนโครงการใหม่ชะลอลง จากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน

สำหรับพอร์ตสินเชื่อคงค้างของธนาคารในช่วงครึ่งปีแรกของปี 64 อยู่ที่ 2.85 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มากที่สุดที่ 47-48% สินเชื่อบ้าน 30% สินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 20% สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่ออื่นๆ 13-14% โดยที่พอร์ตสินเชื่อคงค้างในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารคาดว่าสัดส่วนยังไม่เปลี่ยนแปลงจากครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทิศทางของสินเชื่อจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังลากยาวมาต่อเนื่อง อาจจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังได้ เนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้ที่เข้ามาช่วยลูกค้าทั้งการพักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ย ส่งผลให้รายได้ที่มาจากดอกเบี้ยอาจจะลดลงไปได้บ้าง จากสัดส่วนของลูกค้าที่เข้ามาในมาตรการพักชำระหนี้ชั่วคราวมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในเดือนก.ค. 64 ซึ่งมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าสัดส่วนลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้จะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าสิ้นเดือนมิ.ย. 64 ที่มีสัดส่วนราว 11% ทำให้ผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารจะได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาส 3/64 ทั้งไตรมาส ไปจนถึงต้นไตรมาส 4/64 แต่อย่างไรก็ตามธนาคารยังมีธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนที่นังสามารถสร้างรายได้เข้ามาได้ต่อเนื่อง ทำให้ผลกระทบของผลการดำเนินงานที่ชะลอตัวจะยังไม่เห็นการชะลอตัวลงมากกว่าครึ่งปีแรกมากนัก

"ไตรมาส 3 นี้คงได้ผลกระทบเต็มๆจากโควิด ตั้งแต่ต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดออกมากระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และกระทบต่อธนาคารด้วยซึ่งคาดว่าจะกระทบไปถึงในช่วงต้นไตรมาส 4/64 ทำให้ผลการดำเนินงานของเราก็อาจจะชะลอลงบ้าง เพราะส่วนหนึ่งเราก็ต้องมีการช่วยเหลือลูกค้า

แต่ในส่วนของการตั้งสำรองฯอาจจะยังไม่ต้องตั้งสำรองฯมากขึ้น เพราะครึ่งปีแรกเราตั้งสำรองเพิ่มขึ้นไปล่วงหน้าแล้วและตอนนี้ระดับสำรองฯเราก็เพียงพอและสูงถึง 160% ทำให้การชะลอตัวของผลงานในครึ่งปีหลังแม้ว่าชะลอตัวแต่จะไม่ชะลอตัวมากจากครึ่งปีแรก"นายอภินันท์ กล่าว

ขณะที่แนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ายังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกที่อยู่ในระดับ 3.4% กระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่ยังลากยาวมากต่อเนื่อง และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะคลี่คลายลงช่วงใด โดยที่ธนาคารยังคงควบคุม NPL ในสิ้นปี 64 ไม่ให้เกิน 4%

ด้านการตั้งสำรองในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารมองว่ายังมีการตั้งสำรองฯในระดับปกติ ซึ่งไม่มีการตั้งสำรองฯส่วนเกินเพิ่มขึ้น หลังจากครึ่งปีแรกธนาคารตั้งสำรองฯส่วนเกินไปล่วงหน้าแล้ว เพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนของการแพร่ะบาดโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจของธนาคารยังมีงานที่ปรึกษาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) , ดีลการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และดีลการปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมอยู่ทั้งหมดราว 20 ดีล ซึ่งจะทยอยออกมาในช่วงครึ่งปีหลัง

นายอภินันท์ ยังกล่าวถึงผลกระทบของการยกเลิกกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) หลังจากผู้ถือหน่วยลงทุนตัดสินใจขายหน่วยลงทุนออกทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ บลจ.ภัทร เล็กน้อย แต่ทาง บลจ.ภัทรก็ได้มีการแนะนำกองทุนอื่นๆ ให้ลูกค้าเป็นทางเลือกในการนำเงินไปลงทุนต่อได้

ขณะเดียวกันมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การให้คำปรึกษา (AUA) ของกลุ่มบริษัทยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็น 6.75 แสนล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากเม็ดเงินลงทุนใหม่ของลูกคต้าที่เข้าราว 2 หมื่นล้านบาท สะท้อนความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทที่ลูกค้าให้ความไว้วางใจในการเข้าลงทุน ที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้กับลูกค้าในระดับที่ดีมาต่อเนื่อง ทำให้รายได้จากธุรกิจการลงทุนสามาถสร้างผลงานได้ดีต่อเนื่องในครึ่งปีหลังนี้

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นช้าและปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้มีน้อยกว่าที่คาด สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสซึ่งมีเพียง 5% ในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาก ภายในสิ้นปีจะมีประชากรเพียง 35% ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดส ทำให้การแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์อาจจะมีต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 3 เดือน

ในกรณีฐานบริษัทได้ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 64 เหลือขยายตัว 0.5% จากเดิมที่ 1.5% ส่วนในกรณีที่การระบาดรุนแรงกว่าการล็อคดาวน์อาจยาวนานและรุนแรงกว่า หรือต้องมีการปรับความเข้มข้นของมาตรการล็อคดาวน์จนกระทบต่อภาคการผลิต และการส่งออกที่เป็นความหวังสำคัญเศรษฐกิจไทยอาจหดตัว 0.8% ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งได้

การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและยาวนานกว่าการระบาดสองครั้งแรก จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิต การจ้างงาน กระแสเงินสด ฐานะทางการเงิน และความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ดังนั้นรัฐบาลควรต้องมีการวางแผนการใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่รอบคอบ สอดคล้องกับสถานการณ์และระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุข และสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใส การเพิ่มศักยภาพในการตรวจ สอบสวนโรค และรักษา และเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลเพื่อเพิ่มสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน การอกมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือที่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ เตรียมการเพื่อกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด และรักษาความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงิน

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะต่อรายได้ของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เพดานวินัยทางคลังที่ 60% และคาดว่าจะเกินระดับดังกล่าวในปี 65 แต่ด้วยระดับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง รัฐบาลยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นได้ หากมีความจำเป็น แต่รัฐบาลต้องมีแผนในการปรับลดการขาดดุลในอนาคตเพื่อรักษาวินัยทางการคลังและความเชื่อมั่น และต้องมีการจัดลำดับของการใช้จ่ายในปัจจุบันให้สอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ