KBANK มองศก.ครึ่งหลังเผชิญความท้าทายจากโควิด-เงินบาทผันผวนทิศทางอ่อนค่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 25, 2021 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเผชิญกับความท้าทายของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศอย่างมาก หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศระลอกใหม่เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค. 64 เป็นต้นมา และในปัจจุบันยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้างแล้ว แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศมีค่อนข้างมาก ทำให้กดดันต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 64

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยลงมาติดลบ -0.5% จากการที่การบริโภคในประเทศเกิดการชะลอตัวลงอย่างมาก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่หยุดชะงักไปกว่า 1-2 เดือนจากมาตรการล็อกดาวน์กระทบต่อ GDP ไทยอย่างมีนัยสำคัญ และภาคบริการของไทยมีดุลบริการที่หดตัวลงมา หลังจากการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้เร็ว ทำให้รายได้จากภาคท่องเที่ยวหายไป และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับประมาณการลงเหลือ 200,000 คน จากเดิมที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 250,000 คน ประกอบกับค่าขนส่งต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วกลับมาฟื้นตัว ทำให้ส่งผลกดดันทำให้ GDP ของไทยหดตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยในประเทศจะมีแรงกดดันค่อนข้างมาก แต่ในภาคการส่งออกที่อิงกับเศรษฐกิจโลกนั้นยังเห็นการเติบโตขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อาจจะเห็นภาพเติบโตมีอัตราชะลอลงบ้างในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากที่เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วฝั่งสหรัฐฯและยุโรปฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ผ่านจุดสูงสุดของการฟื้นตัวไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรก และเริ่มเห็นภาพเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ จึงได้ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกปีนี้เติบโตเพิ่มเป็น 12.4% จากเดิมที่ 11.5% ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ลงลึกไปได้

ด้านนโยบายการเงินของไทยหลังจากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด เกิดการเสียงแตก หลังจากกรรมการ 2 รายเห็นว่าควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และอีก 4 รายให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดัยเดิม

แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าหาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก กลุ่มที่จะได้รับผลประโยชน์ค่อนข้างจะเป็นกลุ่มจำกัด ได้แก่ ภาครัฐ เพราะต้นทุนของกระทรวงการคลังที่จัดหาเงินมาใช้ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจะลดลง และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งในระดับ AAA ที่จะมีต้นทุนการกู้ยืมเงินลดลง ส่วนกลุ่มที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งต่ำกว่านั้นคงไม่ได้ประโยชน์ ทำให้ประโยชน์ที่ได้จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกิดการกระจุกตัว และไม่ได้ส่งผลบวกต่อภาพรวมกับเศรษฐกิจไทยอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมองว่าโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกมีเพียง 40% เท่านั้น

ด้านแนวโน้มของค่าเงินบาทไทย หลังจากต้นปีจนถึงปัจจุบันอ่อนค่าลงมาแล้ว 10% โดยมาอยู่ที่มากกว่า 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และเริ่มแข็งค่ากลับมาในปัจจุบันในระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นไปตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาคตลาดเกิดใหม่ แต่เงินบาทไทยจะอ่อนค่าค่อนข้างมาก สาเหตุหลักน่าจะมาจากความกังวลของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ ทำให้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักเก็งกำไรค่าเงินมีการสลับสับเปลี่ยนค่าเงินไป ซึ่งมีการเทขายเงินบาทออกมากดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

ขณะเดียวกัน ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 64 มีแนวโน้มการขาดดุลสูงกว่าที่ธนาคารคาดไว้ที่ติดลบ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากดุลภาคบริการของไทยเกิดการขาดดุลอย่างมาก หลังจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวหายไป และอาจฟื้นกลับมาได้ช้า กดดันดุลบัญชีเดินสะพัด อีกทั้งยังมีบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่มาจากญี่ปุ่นมีการจ่ายเงินปันผลกลับไปยังบริษัทแม่ในต่างประเทศเพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่งผลให้มีเงินไหลออกไปมาก มีส่วนทำให้เงินบาทมีการอ่อนค่าลงมา

ช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมองทิศทางค่าเงินบาทจะเผชิญความผันผวน เพราะยังมีปัจจัยจากการพิจารณาลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์และการดึงสภาพคล่องกลับมาของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ยังไม่มีความชัดเจนออกมา ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแกว่งตัวในช่วงที่เฟดจะมีการประชุม ซึ่งธนาคารได้มีการปรับประมาณการค่าเงินบาทในปีนีอ่อนค่ามาที่ 32.75 บาท/ดอลาร์สหรัฐฯในสิ้นปีนี้ จากเดิมที่ประเมินว่าอยู่ที่ 30.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ