MAKRO วางงบลงทุน 5 ปี 1.3 แสนลบ.ลุยขยายธุรกิจหลังรับโอน Lotus-เพิ่มทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 6, 2021 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์ในไทยและมาเลเซีย จากบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 ต.ค.นี้ หลังจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/64 ในวันที่ 12 ต.ค. นี้เพื่อขอมติในการอนุมัติการทำรายการ รวมถึงการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (PO)
โดยหลังจากรับโอนกิจการแล้ว ภายใน 2 สัปดาห์ บริษัทจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อขอออกหุ้นเพิ่มทุน PO ส่วนจะสามารถเสนอขาย PO ได้เมื่อใดขึ้นกับการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพยและตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

อย่างไรก็ตาม หลังจากการเสนอขาย PO แล้วเสร็จจะหนุนให้สัดส่วนการกระจายการถือหุ้นในมือของผู้ถือหุ้นรายย่อย (ฟรีโฟลต) เพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% พร้อมทั้งคาดว่าจะช่วยให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มขึ้น และเข้าไปอยู่ใน SET50 ได้ สำหรับการเข้าถือหุ้นและรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์ครั้งนี้จะเพิ่มโอกาสการเติบโตจากการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและประชากรเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 10% ภายในปี 68 จากปัจจุบันอยู่ที่ 5% เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นอกจากกลุ่มโลตัสส์จะมีการรับรู้รายได้จากสาขาในประเทศมาเลเซียแล้ว บริษัทยังมีแผนจะขยายสาขาทั้ง MAKRO และ LOTUS ในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จากเดิม MAKRO มี 7 สาขาในต่างประเทศ ได้แก่ กัมพูชา 2 สาขา,เมียนมา 1 สาขา,อินเดีย 3 สาขา และจีน 1 สาขา บริษัทได้วางงบลงทุนสำหรับ 5 ปีข้างหน้า (ปี 64-68) ไว้ประมาณ 130,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของบริษัท ซึ่งนอกจากการขยายสาขาแล้วบริษัทจะหันมาเน้นการลงทุนด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น โดยเบ่งเป็นงบลงทุนสำหรับธุรกิจในกลุ่ม MAKRO ประมาณ 60,000 ล้านบาท และส่วนของกลุ่มโลตัสส์ ราว 70,000 ล้านบาท นางสุชาดา กล่าวว่า บริษัทเชื่อว่าจากประสบการณ์ของ MAKRO ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 32 ปี และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ B2B ขณะที่โลตัสส์เป็นผู้นำตลาดแบบ B2C และดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 27 ปี การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มได้ดียิ่งขึ้น ด้วยช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงสามารถใช้ความเชี่ยวชาญด้านการคัดสรรและจัดซื้อ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ตลอดจนยกระดับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติได้ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ผสมผสานการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ (O2O) เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่ต้องการความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าและบริการ พร้อมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและดิจิตัลแพลตฟอร์ม ด้านนางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MAKRO เปิดเผยว่า การรับโอนกิจการของกลุ่มโลตัสส์ครั้งนี้ ส่งผลดีต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานที่จะสามารถรับรู้รายได้ของกลุ่มโลตัสส์ รวมถึงรายได้จากพื้นที่เช่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย และภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค หากได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นจะส่งผลให้หลักทรัพย์ของบริษัทมีโอกาสเข้าคำนวณในดัชนีสำคัญต่าง ๆ และเป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยที่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท คือ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด จะได้รับจัดสรรหุ้น PP จากการรับโอนกิจการดังกล่าว จะร่วมเสนอขายหุ้นสามัญที่ตนถืออยู่ในบริษัท ด้วยบางส่วนพร้อมกับการทำ PO ในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ