ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ 1.5 พันลบ. SIRI ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 5, 2021 10:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. แสนสิริ (SIRI) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ "BBB-" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.5 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ในการดำเนินงาน

อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้สะท้อนถึงการที่บริษัทมีสินค้าที่หลากหลาย ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในตลาดบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม และหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อซึ่งมีแนวโน้มที่จะยังคงสร้างแรงกดดันต่ออุปสงค์ที่อยู่อาศัยและความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการต่อไปอีกระยะหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม การมีสินค้าที่หลากหลายและแบรนด์ที่มีชื่อเสียงน่าจะทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการนำเสนอสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้

ยอดขายสุทธิของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ลดลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็นระดับ 2.01 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งมองว่าผลการดำเนินงานและกำไรของบริษัทในช่วงที่เหลือของปี 2564 จนถึงปี 2565 จะยังคงได้รับผลกระทบบางส่วนจากการแพร่ระบาดที่ยังคงดำเนินอยู่

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทควรสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้งที่คาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 2.9-3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 6.0-6.6 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 20% ทั้งนี้ อัตรากำไรสุทธิของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7%-8% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีโครงการบ้านจัดสรรที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวน 58 โครงการและโครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 22 โครงการ (รวมโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้การร่วมทุนจำนวน 7 โครงการ) ซึ่งมีมูลค่าเหลือขายรวม 5.7 หมื่นล้านบาท (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) ทั้งนี้ โครงการบ้านจัดสรรมีสัดส่วนคิดเป็น 56% ของมูลค่าเหลือขายทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นโครงการคอนโดมิเนียม

บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้ ณ เดือนกันยายน 2564 จำนวน 2 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยยอดขายรอการรับรู้รายได้จากโครงการของบริษัทเองจำนวน 1.63 หมื่นล้านบาทและจากโครงการร่วมทุนอีกจำนวน 3.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะส่งมอบยอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 4.9 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 มูลค่า 1.08 หมื่นล้านบาทในปี 2565 มูลค่า 4 พันล้านบาทในปี 2566 และที่เหลือในปี 2567

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปตลอดช่วงประมาณการเนื่องจากบริษัทมีแผนจะเปิดโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทเองมากกว่าโครงการร่วมทุน รวมถึงจะขยายไปยังโครงการบ้านจัดสรรให้มากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะจัดหาแหล่งเงินทุนโดยใช้เงินกู้ 70% และทุน 30% สำหรับใช้เป็นค่าซื้อที่ดินและค่าก่อสร้างตลอดระยะเวลาในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมภายใต้การร่วมทุนอีกด้วย

ทั้งนี้ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยของภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลก ทริสเรทติ้งจึงมีความเห็นว่าบริษัทน่าจะต้องมีความระมัดระวังในการขยายธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและการลงทุนอื่น ๆ ให้มากยิ่งขึ้น ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทควรจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 66% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในช่วง 5%-10% เพื่อที่จะคงอันดับเครดิตเอาไว้ให้อยู่ในระดับปัจจุบัน

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทยังสามารถบริหารจัดการได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 2.55 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 1.42 หมื่นล้านบาท ตั๋วแลกเงินระยะสั้นจำนวน 3.1 พันล้านบาท เงินกู้โครงการระยะยาวจำนวน 5 พันล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 3.1 พันล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่าอีกจำนวน 0.1 พันล้านบาท แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดจำนวน 3.5 พันล้านบาทและวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้ ไม่ติดเงื่อนไขและไม่สามารถยกเลิกได้จำนวน 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่จำนวน 3.2 พันล้านบาท โดยปกติแล้วบริษัทจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ

ในขณะที่เงินกู้โครงการนั้นบริษัทจะชำระคืนด้วยเงินที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีที่ดินเปล่าที่ปลอดภาระค้ำประกันซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีจำนวน 9.7 พันล้านบาทและสินค้าเหลือขายในโครงการที่ปลอดภาระหนี้ของบริษัทซึ่งมีมูลค่าขายอีกจำนวน 6.2 พันล้านบาทที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอเงินกู้จากธนาคารในกรณีที่จำเป็นได้อีกด้วย

ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินรวม (ตามการพิจารณาลำดับชั้นในการได้รับคืน) อยู่ที่จำนวน 6.54 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนที่จำนวน 1.82 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนเป็นหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทแม่และบริษัทย่อยต่าง ๆ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 28% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50% ตาม "เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้" ของทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจึงพิจารณาว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทไม่มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาถึงลำดับชั้นในการได้รับคืนต่อสินทรัพย์ของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทจะเป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 66% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในช่วง 5%-10% ตลอดช่วงเวลาประมาณการได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรให้อยู่ในระดับเกินกว่า 5% เอาไว้ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้นเทียบเท่ากับผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่สูงกว่าโดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับต่ำกว่า 55% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 10%-15% ในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ