(เพิ่มเติม) KTC เป้าปี 65 กำไรนิวไฮ-สร้าง New S Curve,ขยาย "พี่เบิ้ม" ดันพอร์ตสินเชื่อรวมแตะแสนลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 12, 2022 09:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ากำไรปี 65 จะยังทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องจากปี 64 ที่คาดทำกำไรราว 6 พันล้านบาท โดยจะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้าง New S Curve เพื่อผลักดันรายได้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

บริษัทมีกลยุทธ์หลักในปีนี้ที่จะมุ่งเน้นขยายธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกัน "เคทีซี พี่เบิ้ม" วางเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโตก้าวกระโดดแตะ 11,500 ล้านบาท ด้วยการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละพื้นที่แบบเชิงรุกผ่าน "พี่เบิ้ม เดลิเวอรี่" ด้วยทีมขายของ KTC ทั่วประเทศไปให้บริการสินเชื่อถึงบ้านลูกค้า หรือสถานที่ที่ลูกค้าสะดวก อย่างรวดเร็ว ผูกกับช่องทางเครือข่ายธนาคารกรุงไทย (KTB) ทั่วประเทศกว่า 900 สาขา และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) 11 สาขา เป็นกลยุทธ์หลัก และจะเน้นสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์

พร้อมกันนั้น บริษัทจะสร้างผลิตภัณฑ์หลากหลายครบทุกความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นบัตรกดเงินสด เคทีซี พี่เบิ้ม ซึ่งเป็นครั้งแรกของสินเชื่อทะเบียนรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ในรูปแบบของบัตรกดเงินสดที่ลูกค้าสามารถรูด-โอน-กด-ผ่อนผ่านบัตรได้ทันที ครอบคลุมถึงธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (Hire Purchase) ภายใต้ใบอนุญาตของกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง ซึ่ง KTC ถือหุ้นอยู่ 75.05%

ตลอดจนพัฒนากระบวนการทำงานด้วยหลักการของดิจิทัล ทวิน (Digital Twin) นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการสมัครและอนุมัติสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการมีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์ม "MAAI BY KTC" ต่อยอดจากความแข็งแกร่งของเคทีซีในการทำระบบคะแนนสะสมและความเชี่ยวชาญด้านการตลาดในการบริหารคะแนน KTC FOREVER ที่ตอบโจทย์และครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์

MAAI BY KTC เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จาก KTC ที่จะให้บริการร่วมกับพันธมิตรธุรกิจที่ต้องการใช้รอยัลตี้แพลตฟอร์มแบบครบวงจร โดยมีโซลูชั่นที่สำคัญ คือ 1.ระบบบริหารจัดการสมาชิก (Membership Management) 2.ระบบบริหารจัดการคะแนน (Point System Management) ไม่ว่าเป็นคะแนนของพันธมิตรเอง หรือจะใช้คะแนน MAAI POINT ในการทำรอยัลตี้โปรเกรมก็ทำได้เช่นกัน โดยคะแนน MAAI POINT นี้ สามารถใช้เป็นคะแนนกลางในการแลกเปลี่ยนกับคะแนนอื่นๆ ในกลุ่มพันธมิตรบน MAAI Platform ได้ด้วย

และ 3. ระบบบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ในรูปแบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Coupon Management) เพื่อให้การแลกคะแนนมีความหลากหลาย ตรงใจกลุ่มลูกค้าสมาชิก ไม่ว่าจะแลกเป็นอี-คูปอง (E-Coupon) หรือแลกสินค้าได้ที่ร้านค้าพันธมิตรทั่วไป ครอบคลุมทุกหมวดการใช้จ่าย อาทิ ร้านค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร และบริการเดลิเวอรี่ โดยจะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไตรมาส 1/65 และในเดือน ม.ค.65 จะเปิดให้พนักงาน KTC ได้ทดลองใช้ในช่วงเริ่มต้นกับ 16 ร้านค้าและจะขยายพันธมิตรร้านค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"แม้ปีนี้บริษัทฯ จะวางเป้ากำไรนิวไฮต่อเนื่อง แต่ระดับการเติบโตคงไม่สูงมากเหมือนปีที่ผ่านมาและในอดีต เนื่องจากปีนี้บริษัทฯ วางแผนจะเอาส่วนกำไรที่เกินกว่าที่ตั้งไว้ไปใช้ขยายการลงทุนต่อทั้งหมด โดยเฉพาะในการลงทุนขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสร้าง Ecosystem มาเชื่อมต่อกับผลิตภัณฑ์อื่นๆของพันธมิตร ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยหนุนการเติบโตในระยะยาว

ส่วน NPL เชื่อว่าบริษัทจะสามารถควบคุมได้ หลังจากได้ดูฐานลูกค้าและทุกอย่าง จึงมั่นใจว่าเรามาถูกทางแล้ว ส่วนปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมองว่าไม่ได้น่ากลัว แม้อาจมีสายพันธุ์อื่นเพิ่มเข้ามาอีก แต่เชื่อว่าเราจำเป็นต้องอยู่และต่อสู้กับมัน รวมถึงการที่บริษัทจะสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานไว้คาดว่าจะรองรับการเติบโตได้กว่า 10 เท่าในอนาคต"นายระเฑียร กล่าว

ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเคทีซีในปี 65 บริษัทคาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเติบโต 10% จากปี 64 หรือประมาณ 220,000 ล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้คุณภาพดี ขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ ตลอดจนรักษาฐานสมาชิกปัจจุบันด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดี ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่ตรงใจผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธ์สำคัญจะเน้นการขยายฐานบัตรร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ทั้งการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และพัฒนาปรับปรุง (Relaunch) ออกบัตรเครดิตร่วม (Co-brand) ให้มีสิทธิประโยชน์ตรงใจและผูกสมาชิกบัตรระยะยาว ลูกค้าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการผนึกความแข็งแรงระหว่าง KTC กับพันธมิตร คาดจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 1/65

สำหรับกลยุทธ์ส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านบัตรจะยังคงใช้คะแนน KTC FOREVER และการผ่อนชำระรายเดือนเป็นแรงขับเคลื่อนกิจกรรมการตลาด และในปี 65 จะใช้ความแข็งแกร่งของเครือข่ายพันธมิตร ขยายไปยังร้านค้ากลุ่มพรีเมียมและไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของกลุ่มสมาชิกระดับบน และดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะพัฒนาบริการต่างๆ เพื่อให้สมาชิกบัตรได้รับความสุขจากการใช้งานผ่านแอปฯ KTC Mobile หรือ KTC Phone รวมไปถึงบริการด้านการเดินทางท่องเที่ยวกับ "KTC World Travel Service" และการซื้อสินค้าบนอีมาร์เก็ตเพลซ "KTC UShop"

ขณะที่กลยุทธ์ของธุรกิจสินเชื่อบุคคล จะมุ่งขยายฐานสมาชิกใหม่ในกลุ่มที่มีศักยภาพ ด้วยการนำเสนอสินเชื่อบัตรกดเงินสด "เคทีซี พราว" (KTC PROUD) กับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำและมีฐานรายได้สูงขึ้น ด้วยแคมเปญแบ่งเบาภาระสมาชิก ลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.93% ต่อเดือน และเพิ่มเวลาผ่อนให้นานถึง 60 งวด

ปัจจุบัน KTC มีฐานสมาชิกสินเชื่อบุคคลมีกว่า 7 แสนราย โดย KTC จะยังคงออกแคมเปญแบ่งเบาภาระสมาชิกต่อเนื่อง ทั้งโครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยงที่เพิ่มรางวัลมากขึ้นเป็น 600 รางวัล เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสรับสิทธิเคลียร์หนี้ 100% และ 10% ตลอดปี รวมทั้งพัฒนาการโอนเงินออนไลน์ผ่านบัญชีพร้อมเพย์เพื่อเพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการโอนเงินผ่านแอปฯ KTC Mobile ไปยัง 13 ธนาคาร แบบเรียลไทม์ ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนออกแคมเปญสิทธิประโยชน์กับร้านค้าชั้นนำเพื่อให้ลูกค้าได้รับความคุ้มค่าเมื่อใช้บัตรกดเงินสดรูดซื้อสินค้า และยังสามารถผ่อนสินค้า 0% ร้านค้าร่วมรายการ ตอกย้ำความคุ้มค่าของการใช้วงเงินสินเชื่อบนบัตรกดเงินสดทั้ง 4 ฟังก์ชั่น "รูด โอน กด ผ่อน" โดยคาดว่ายอดลูกหนี้ในปี 65 จะเติบโต 7% จากปี 64

ในปี 65 บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มสมาชิกใหม่บัตรเครดิตไม่ต่ำกว่า 250,000 ราย และเคทีซี พราว ไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย โดยกลยุทธ์การขยายฐานสมาชิกนั้นช่องทางการจัดจำหน่ายต้องทำงานอย่างหนักในเชิงรุก เพื่อกวาดลูกค้าทุกผลิตภัณฑ์เข้าพอร์ต โดยจะใช้จุดแข็งของแต่ละผลิตภัณฑ์เป็นจุดขาย ผนวกเข้ากับจุดแข็งของช่องทางการจัดจำหน่าย ผ่าน KTB เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์หลัก

ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการสินเชื่อบุคคลในปีนี้จะสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้ประกอบการยังคงต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อมากอบกู้หรือขยายธุรกิจ แต่ก็เป็นความท้าทายที่ KTC จะต้องกลั่นกรองความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง

ณ ไตรมาส 3/64 บริษัทฯ มีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 87,000 ล้านบาท และคาดว่าในไตรมาส 4/64 จะเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย ส่วนปี 65 คาดว่าจากการมุ่งเน้นในเคทีซีพี่เบิ้มจะส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อรวมแตะระดับแสนล้านบาทได้

นายระเฑียร กล่าวอีกว่า บริษัทจะมุ่งบริหารต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เป็นสำคัญ โดยจะเพิ่มสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นมากขึ้น และคาดว่าสิ้นปี 65 จะมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) อยู่ที่ 20:80 และต้นทุนการเงินจะใกล้เคียงกับปี 64 ที่ 2.6% ต่อปี

พร้อมกันนั้น ในปีนี้บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้จำนวนไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะใช้รองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 65 จำนวน 9,500 ล้านบาท และสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเคทีซี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ