MCOT คว้า 6 คลื่นความถี่วิทยุเอฟเอ็มในกทม. มูลค่า 287 ลบ.-ตจว.รอยืนยัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 22, 2022 09:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

MCOT คว้า 6 คลื่นความถี่วิทยุเอฟเอ็มในกทม. มูลค่า 287 ลบ.-ตจว.รอยืนยัน

นายเกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท. (MCOT) กล่าวว่า ในการประมูลคลื่นความถี่เพื่อดำเนินธุรกิจวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม อสมท. เข้าประมูลทั้งหมด 55 คลื่น ผลการประมูลเป็นที่น่าพอใจ อสมท.เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดคลื่นในกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวน 6 คลื่น ส่วนในต่างจังหวัดยังต้องรอการตรวจสอบยืนยัน

ในการประมูลมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้างทางเทคนิค โดยเฉพาะระบบการประมูล ในวันนี้ (22ก.พ.) จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจทานความถูกต้องของระบบอีกครั้งที่กสทช. ดังนั้นในเวลานี้จึงยังไม่สามารถยืนยันได้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน แม้ว่าตัวเลขจำนวนคลื่นความถี่ที่เสนอราคาสูงสุดมีอยู่แล้วแต่อยากให้มีการยืนยันที่ถูกต้องจากกสทช.อีกครั้งหนึ่ง

"เราพอใจจำนวนคลื่นที่ได้มาในครั้งนี้ ในภาพรวมแล้วได้คลื่นความถี่ค่อนข้างมาก การใช้งบประมาณในการประมูลอยู่ในกรอบที่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด และไม่เกินวงเงินที่บอร์ดได้อนุมัติ แต่เป็นเพราะระบบประมูลมีปัญหาเกิดขึ้นเกือบทุกรอบในช่วงบ่าย จึงขอให้มีการสอบทานตัวเลขที่แท้จริงเพื่อความถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้นจึงจะเปิดเผยจำนวนคลื่นที่เสนอราคาสูงสุดได้"

นายเกษมศานต์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่อสมท.ให้ความสำคัญในการนำคลื่นความถี่ไปใช้ประกอบกิจการมี 3 ประเด็น คือ การนำคลื่นไปประกอบกิจการเพื่อให้เกิดรายได้, การยังคงมีคลื่นความถี่ที่ครอบคลุมทั้งประเทศ และการนำคลื่นความถี่ไปใช้เพื่อประโยชน์ทางสังคมเพราะอสมท.เป็นรัฐวิสาหกิจ

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ได้จัดประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็มในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาต มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 30 บริษัท จำนวน 71 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 คลื่นความถี่ ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่นความถี่ ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 21 คลื่นความถี่และภาคใต้ จำนวน 20 คลื่นความถี่ อายุใบอนุญาต 7 ปี ซึ่งหลังจากประมูลเสร็จจะนำรายชื่อผู้ชนะประมูลเสนอให้คณะกรรมการ กสทช.รับรองผลในวันที่ 23 ก.พ.2565

สำหรับการประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม รอบแรก มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 14% จากราคาตั้งต้นทั้งหมด 18 คลื่น ราคา 390 ล้านบาท เป็น 443 ล้านบาท แบ่งเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 8 คลื่นความถี่ ภาคกลาง 6 คลื่นความถี่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 คลื่นความถี่

ทั้งนี้ เนื่องจากคลื่นในพื้นที่ กทม. มีราคาเริ่มต้นสูงสุดอยู่ที่ 54,8300,000 บาท แม้จะมีผู้เข้าประมูลเพียงคลื่นละ 1 บริษัทก็ตาม ขณะที่พื้นที่ในต่างจังหวัดราคาเริ่มต้นการประมูลต่ำสุดคือ 105,000 บาท มีการแข่งขันมากกว่า 1 ราย พบว่ามีการต่อเวลาการประมูลออกไปอีก 5 นาที จำนวน 4 คลื่น คือ คลื่น 95.25 จ.จันทบุรี ,คลื่น 107.25 จ.ตราด,คลื่น 105.5 จ.มหาสารคาม และคลื่น 107.25 จ.กาญจนบุรี ทำให้การประมูลรอบแรกจบลงที่เวลา 13.30 น.

อย่างไรก็ตามในพื้นที่ กทม.นั้น บมจ. อสมท (MCOT) ได้ยื่นประมูล 6 คลื่นความถี่ ไม่มีคู่แข่งจึงชนะการประมูลรวมมูลค่า 6 คลื่นอยู่ที่ 286.894 ล้านบาท จากจำนวนที่ยื่นทั้งหมด 55 คลื่น ทั่วประเทศ

สำหรับเหตุผลที่ต่างจังหวัดมีการแข่งขันราคาสูงกว่าราคาเริ่มต้น ซึ่งตั้งราคาหลักแสนบาทไปจบที่ราคาหลักล้านบาท หรืออย่าง จ.ชลบุรี คลื่น 107.75 ที่ตั้งราคาไว้ที่ 2 ล้านบาท ก็มีผู้เคาะราคาประมูลไปถึง 19 ล้านบาทนั้น แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านระบบกระจายเสียงจากเดิมที่รัฐเป็นเจ้าของมาสู่ระบบใบอนุญาตนั้น ประสบความสำเร็จ ซึ่งกสทช.ตั้งราคาเริ่มต้นในราคานี้เพื่อเปิดโอกาสให้รายใหม่ได้เข้ามามีโอกาสในตลาดนี้ซึ่งปัจจุบันตลาดด้านกระจายเสียงมีมูลค่าเม็ดเงินโฆษณา กว่า 6,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมประมูลเล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ

ทั้งนี้ภายหลังการประมูลสิ้นสุด กสทช.ยังไม่สามารถสรุปราคาการประมูลรอบสาม และรอบสี่ ที่ประมูลจำนวน 13 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 คลื่นความถี่และภาคใต้ 8 คลื่นความถี่ เพราะต้องตรวจสอบล็อกไฟล์อีกทั้ง โดยการประมูลเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 น.รอบละ 1 ชั่วโมง จำนวน 4 รอบ แต่เนื่องจากการประมูลมีการเคาะราคาสูงกว่าราคาเริ่มต้นหลายเท่า จึงต้องใช้เวลาในการยืนยันราคาในระบบล็อกไฟล์ก่อนที่จะเริ่มประมูลในรอบถัดไป ทำงานการประมูลในรอบถัดไปต้องเลื่อนจากกำหนดการเดิม ส่งผลให้การประมูลทั้ง 4 รอบใช้เวลาเกือบ 16 ชั่วโมง จบลงในเวลา 0.16 น. และจะมีการสรุปราคาประมูลอีกครั้งช่วงเช้าของวันที่ 22 ก.พ.65

พ.อ.นที กล่าวว่า การประมูลเป็นการประมูลผ่านระบบอินทราเน็ต ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต แต่ที่ระบบไม่แสดงหน้าจอของผู้ประมูลอาจเกิดจากการประมวลผลล่าช้า โดยยืนยันว่าล็อกไฟล์ที่เก็บอยู่สามารถยืนยันราคาที่แท้จริงได้ หากผู้ประมูลต้องการอุทธรณ์สามารถหาเหตุผลมายืนยันได้


แท็ก (MCOT)   อสมท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ