SCGC ชูธงผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ภูมิภาคทุ่มขยายกำลังผลิตเวียดนาม-จ่อสรุปอินโดฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 24, 2022 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCGC ชูธงผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ภูมิภาคทุ่มขยายกำลังผลิตเวียดนาม-จ่อสรุปอินโดฯ

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) เปิดเผยว่า บริษัทมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาคที่มุ่งสร้างการเติบโตแก่ธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ประการ คือ 1. มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้าและผู้บริโภคด้วยสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ 2. มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 3. ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน SCGC จัดจำหน่ายสินค้าในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่โมโนเมอร์ต้นน้ำและพอลิเมอร์ปลายน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องของปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปัจจุบัน กำลังการผลิตรวม 6.9 ล้านตันต่อปี คิดเป็นส่วนแบ่งกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียน (ณ เดือนธ.ค.64) ราว 19% หรือเกือบ 1 ใน 5

นายธนวงษ์ กล่าวว่า หนึ่งในจุดแข็งสำคัญของ SCGC คือ การมีฐานผลิตใน 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 440 ล้านคน หรือประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในอาเซียน มีสัดส่วนรายได้จากอาเซียน คิดเป็นประมาณ 21% โดยประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตหลัก

ส่วนในอินโดนีเซียเป็นการลงทุนผ่านการถือหุ้น 30% ใน Chandra Asri PetrochemicalTbk (CAP) และในเวียดนาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ LSP คอมเพล็กซ์ ปิโตรเคมี (Long Son Petrochemical Complex) ซึ่งบริษัทฯ ถือเป็นรายแรกที่เข้าไปลงทุน (first mover)

โดยภูมิภาคอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี โดยคาดการณ์เวียดนามและอินโดนีเซียจะมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 5?6% ต่อปี ภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของ GDP ทั่วโลกเกือบเท่าตัว นอกจากนี้ อัตราการใช้พอลิเมอร์ในภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน (ณ 31 ธ.ค.64) อยู่ที่ 26 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งยังต่ำกว่าในยุโรปและสหรัฐอเมริกา 2-3 เท่า ตลาดอาเซียนจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

นอกจากนั้น ปัจจุบันเวียดนามยังต้องนำเข้าพอลิเมอร์ประมาณ 75% และอินโดนีเซียประมาณ 50% เนื่องจากมีกำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นโอกาสของ SCGC ที่จะใช้ความได้เปรียบจากการมีฐานการผลิตในกลุ่มประเทศดังกล่าว และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้รวดเร็วกว่า

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และธุรกิจของ SCGC ถือว่ามีศักยภาพและโอกาสการเติบโตทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยธุรกิจเคมีภัณฑ์จะถูกขับเคลื่อน และได้รับประโยชน์จากเมกะเทรนด์ที่สำคัญ ๆ ของโลกและภูมิภาคอาเซียน เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เนื่องจากการขยายตัวของเมือง การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด และการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการความต้องการใช้เคมีภัณฑ์ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของ SCGC ที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services ? HVA) รวมไปถึงการพัฒนา Green Innovation เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon โดยในปี 64 บริษัทฯ มีสัดส่วนสินค้า HVA คิดเป็นประมาณ 36% ของรายได้รวมของบริษัทฯ นอกจากนี้ยังจะขยายสินค้าในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 73

ด้านพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Reduce, Recyclable, Recycle และ Renewable เช่น การพัฒนา SMX Technology ทำให้เม็ดพลาสติกแข็งแรงทนทานขึ้น 20% สามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิต การพัฒนาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin : PCR) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานระบบการตรวจสอบย้อนกลับสากล โดยร่วมกับเจ้าของแบรนด์สินค้าชั้นนำหลายราย เป็นต้น

นายธนวงษ์ กล่าวว่า บริษัทยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ตลอดซัพพลายเชน โดยนำ Data Technology มารวมกับ Operational Technology เพื่อยกระดับ Operational Excellence ไปอีกขั้น อีกทั้งการนำระบบ Machine Learning มาใช้เพื่อคาดการณ์ราคาวัตถุดิบ การใช้ Optimization Model เพื่อตัดสินใจเดินเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบ Realtime Performance Management เพื่อให้เห็นข้อมูลการเดินเครื่องจักรอย่างรวดเร็วสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตให้เข้ากับสถานการณ์ตลาดได้อย่างทันท่วงที

รวมถึงระบบ Digital Reliability Platform (DRP) ช่วยดูแลการบริหารจัดการประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรแบบครบวงจร เพื่อช่วยให้เราสามารถเดินเครื่องจักรได้ดี บำรุงรักษาเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระบบ Digital Commerce Platform (DCP) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขายและทำให้ตอบสนองลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการ LSP ในเวียดนามว่า ขณะนี้เดินหน้าไปตามแผน คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในครึ่งแรกของปี 66 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นกว่า 40% เป็น 9.8 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันอยู่ 6.9 ล้านตัวต่อปี โดยได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินเครื่องจักร เช่น การเตรียมสัญญาซื้อขายวัตถุดิบในระยะยาว การทำตลาดล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการจำหน่าย เป็นต้น

โครงการดังกล่าวได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในรูปแบบ Flexible Cracker สามารถเลือกวัตถุดิบที่หลากหลายเข้ามาใช้ในการผลิตได้มากขึ้น และมีที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่มีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ ส่งผลดีต่อการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามคาดใช้เงินลงทุนปีนี้อีกราว 50,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีแผนขยายไปสู่โครงการ LSP เฟส 2 เพื่อรองรับการเติบโตของความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากปัจจุบันโครงการ LSP 1 ทดแทนการนำเข้าไม่ถึง 30% ทำให้ยังต้องมีการนำเข้าอีก 70% หากในปีถัดไปโครงการ LSP 2 เกิดขึ้นก็จะช่วยตอบโจทย์ดังกล่าวได้

ด้านโรงงานผลิตที่อินโดนีเซียที่เป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรอีก 2 ราย โดย SCGC ถือหุ้นราว 30% ก็มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเช่นกัน คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนได้ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า และน่าจะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการราว 1 แสนล้านบาท

นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน SCGC กล่าวว่า ความคืบหน้าการนำ SCGC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน(ไฟลิ่ง)เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.ล.ต.

SCGC มีแผนนำเงินจากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว โดยหลักจะนำไปปรับโครงสร้างทางการเงินด้วยการคืนเงินกู้ให้แก่บริษัทแม่ หรือ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) ที่ได้นำมาลงทุนโครงการ LSP ในเวียดนาม มูลค่าเงินลงทุนราว 1.6-1.7 แสนล้านบาท เพื่อให้หนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทลดลงจาก 1 เท่า และช่วยให้บริษัทสามารถระดมทุนในช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อรองรับการลงทุนโครงการในอนาคต อีกทั้งจะใช้ขยายธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อลูกค้า และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุน

อนึ่ง SCGC มีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 3,854,685,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท (รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) อาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจาก SCGC ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment)) โดยหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25.2% ของทุนชำระแล้วภายหลังการเพิ่มทุนและการออกและเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/65 ยังมีปัจจัยที่ท้าทายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น เงินเฟ้อ การล็อกดาวน์ในจีน ที่ส่งผลกระทบต่อดีมานด์ ทำให้แม้ว่าบริษัทจะปรับราคาขายเพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มไม่ได้มาก จากความผันผวนของปัจจัยภายนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม บริษัทจึงกลับมาเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตลดต้นทุนทุกส่วนลงด้วย

"การปรับขึ้นราคาขาย เราไม่สามารถทำได้เต็มที่ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงภายนอก ซึ่งมีความผันผวนสูงอยู่ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งทุกๆ 1 บาท มีผลต่อกำไร 800-1,000 ล้านบาท/ปี จากปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศและในประเทศ 50:50" นายกุลเชฏฐ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ