ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ของ SPI ที่ AA แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 29, 2022 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) ที่ระดับ "AA" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทโฮลดิ้งหลักรายหนึ่งของกลุ่มสหพัฒน์ ตลอดจนการลงทุนที่หลากหลายในบริษัทด้านสินค้าอุปโภคบริโภคภายในกลุ่มสหพัฒน์ และการมีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการที่บริษัทมีรายได้จากเงินปันผลที่สม่ำเสมอ และมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่เข้มแข็งอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • เป็นหนึ่งในบริษัทโฮลดิ้งหลักของกลุ่มสหพัฒน์ SPI เป็นบริษัทโฮลดิ้งหลักของกลุ่มสหพัฒน์ โดยกลุ่มสหพัฒน์เป็นกลุ่มบริษัทด้านสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าหลายประเภทภายใต้แบรนด์ชั้นนำมากมายในตลาดที่หลากหลาย อาทิ "มาม่า" "วาโก้" "เปา" "เอสเซ้นซ์" "มิสทีน" ฯลฯ ทั้งนี้ กลุ่มสหพัฒน์ได้พัฒนาเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งแบบครบวงจรตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการผลิตและการจัดจำหน่าย

บริษัทยังเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสวนอุตสาหกรรมของกลุ่มสหพัฒน์ซึ่งให้บริการสาธารณูปโภคและบริการอื่น ๆ แก่บริษัทต่าง ๆ ที่ประกอบกิจการในสวนอุตสาหกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัทยังทำหน้าที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งซึ่งถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มสหพัฒน์อีกด้วย

  • การลงทุนที่หลากหลาย บริษัทมีการลงทุนที่หลากหลายและกระจายตัวเป็นอย่างดี โดย ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทลงทุนในบริษัทต่าง ๆ จำนวน 177 แห่งมูลค่า 4.71 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มสหพัฒน์ การลงทุนของบริษัทครอบคลุมในกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องสำอาง สินค้าอุปโภคบริโภค และอื่น ๆ ในปี 2564 บริษัทมีเงินปันผลรับจากกลุ่มบริษัทด้านอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นสัดส่วน 39% ของเงินปันผลทั้งหมดที่บริษัทได้รับ ในขณะที่เงินปันผลจากกลุ่มบริษัทด้านสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า และเครื่องสำอางมีสัดส่วน 26% 5% และ 4% ตามลำดับ

กลุ่มสหพัฒน์มักจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรต่าง ๆ และได้สร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับหุ้นส่วนทางธุรกิจจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งนี้ การร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนทางธุรกิจช่วยลดภาระการลงทุนในระยะเริ่มต้นของบริษัทลงได้และช่วยให้บริษัทได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมลงทุนซึ่งส่งผลให้บริษัทสามารถขยายการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การมีพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลายยังช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงพันธมิตรทางธุรกิจเพียงรายใดรายหนึ่งได้อีกด้วย

  • การลงทุนที่หลากหลายช่วยลดผลกระทบจากโรคโควิด 19 กระแสเงินสดหลักของบริษัทมาจากเงินปันผลจากการลงทุน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 แต่เงินปันผลรับของบริษัทในปี 2564 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 1.4 พันล้านบาท การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบางธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางและแฟชั่น อย่างไรก็ตาม ในบางธุรกิจ เช่นอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าและมีผลการดำเนินงานที่ดีในช่วงที่มีการแพร่ระบาด

ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจของกลุ่มสหพัฒน์จะค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 หลังจากที่รัฐบาลได้ใช้นโยบายการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติร่วมกับโรคโควิด 19 และการแพร่ระบาดที่ลดลงของสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งมีความอันตรายไม่มาก ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากการลงทุนประมาณ 1.4 พันล้านถึง 1.5 พันล้านต่อปี ในช่วงปี 2565-2567

  • การลงทุนใหม่ ๆ จะช่วยเพิ่มฐานรายได้ให้มากขึ้น ในเดือนพฤษภาคม 2565 บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ธนูลักษณ์ (TNL) เป็น 66.75% จากการซื้อหุ้นจำนวน 41.81% จากผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง 7 รายของ TNL มูลค่า 1.06 พันล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีหน้าที่ในการทำคำเสนอซื้อหุ้น TNL ส่วนที่เหลือจำนวน 33.25% ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 842 ล้านบาท และต้องรวมผลการดำเนินงานของบริษัทธนูลักษณ์เข้ากับงบการเงินของบริษัทด้วย

TNL เป็นบริษัทในกลุ่มสหพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนัง ในปี 2564 มีรายได้ 1.3 พันล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 129 ล้านบาท

บริษัทได้เข้าประกอบธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ผ่าน บริษัท อ๊อกซิเจน แอสเซท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ณ เดือนมีนาคม 2565 ยอดสินเชื่อคงค้างของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์อยู่ที่จำนวน 1.4 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างจะขยายตัวเป็นประมาณ 2.3 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ดอกเบี้ยรับปีละประมาณ 250 ล้านบาท บริษัทได้มีการลดความเสี่ยงจากธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงโดยใช้นโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวังเช่น อัตราส่วนเงินกู้ต่อสินทรัพย์ค้ำประกันต่ำกว่า 50%

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัท (ไม่รวมส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมตามวิธีส่วนได้เสียและเงินปันผลรับ) จะเพิ่มขึ้นจาก 3 พันล้านบาทในปี 2564 เป็น 4 พันล้านบาทในปี 2565 และ 5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2566 และ 2567 จากผลการลงทุนใหม่ดังกล่าว ส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.1 พันล้านต่อปีในช่วงปี 2565-2567

  • งบดุลอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง บริษัทยังคงมีงบดุลอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดย ณ เดือนมีนาคม 2564 เงินกู้สุทธิที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 หมื่นล้านบาทเนื่องจากการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวเนื่องและธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 23.9% ณ เดือนมีนาคม 2565 เมื่อเทียบกับระดับ 20.9% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา บริษัทมีแผนจะปรับลดภาระหนี้ลงโดยการขายเงินลงทุนบางส่วนและการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินจากธุรกรรมทั้งสองรวมเป็นเงิน 3.3 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเป็น 20% ในปี 2567
  • มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอและมีความยืดหยุ่นสูง ประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังคงมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดจำนวน 315 ล้านบาทและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 425 ล้านบาท บริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินหลายแห่งอีกจำนวน 4.3 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 1.6 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทจะได้รับเงินทุนจำนวน 3.3 พันล้านบาทจากแผนในการขายเงินลงทุนและการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ภาระในการชำระหนี้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าของบริษัทประกอบไปด้วยหนี้ระยะยาวจำนวน 997 ล้านบาทและหนี้ระยะสั้นจำนวน 3.35 พันล้านบาท

โดยในปี 2565 บริษัทมีงบลงทุนประมาณ 2.4 พันล้านบาท ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนที่มีสภาพคล่อง ทั้งนี้ มูลค่าตลาดของเงินลงทุนของบริษัทในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 47 แห่งคิดเป็น 3.87 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งมากกว่า 3 เท่าของเงินกู้รวมคงค้างของบริษัท ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทไม่มีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ