โพลล์นักวิเคราะห์ คาด GDP ไทยโต-เปิดเมืองหนุน SET แต่ยังกังวลศก.โลกถดถอย-ดอกเบี้ยขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 4, 2022 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โพลล์นักวิเคราะห์ คาด GDP ไทยโต-เปิดเมืองหนุน SET แต่ยังกังวลศก.โลกถดถอย-ดอกเบี้ยขึ้น

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ ต่อมุมมองด้านการลงทุนครึ่งปีหลังของปี 2565 โดยครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจ 24 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ 20 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 3 บริษัท และบริษัทโกลด์ฟิวเจอร์ส 1 บริษัท

ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

สมมติฐานหลัก มีการปรับเพิ่มราคาน้ำมันดิบของปีนี้จาก 94.03 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาเป็น 102.36 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 จะฟื้นตัว โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่อัตราเติบโต 3.18% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจครั้งก่อน (เม.ย.65) ซึ่งเคยใช้สมมติฐานที่ 3.09%

ปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางการลงทุนตลอดครึ่งปีหลังนี้ ปัจจัยบวก ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มีผู้โหวต 75% รองมาคือ สถานการณ์โควิดในประเทศไทยที่เบาลงจนสามารถเปิดเมือง มีผู้ตอบแบบสำรวจ 62% และอันดับที่ 3 คือ สถานการณ์โควิดโลก มีผู้ตอบ 58% ตามลำดับ

ส่วนปัจจัยลบ มีความชัดเจนมากถึง 5 ปัจจัย เห็นได้จากการโหวตอย่างท่วมท้น ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีความกังวลถึงภาวะถดถอย และ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยมีผู้ตอบทั้ง 2 ปัจจัยนี้ที่ระดับ 92% เท่ากัน ส่วนอันดับ 3 คือ การลดหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก มีผู้ตอบมากถึง 83% ส่วนอันดับ 4 คือ ปัจจัยการเมืองในต่างประเทศ มีผู้ตอบ 79%

และอันดับที่ 5 คือ แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในประเทศไทยที่มีผู้โหวตว่าเป็นปัจจัยลบมาถึง 75% ซึ่งในประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น เสียงโหวต 96% คาดว่าจะมีการปรับขึ้นในครึ่งหลังของปี 65 อย่างแน่นอน แต่ระดับการคาดแตกต่างกันไป เรียงลำดับขนาดการปรับขึ้นดังนี้

  • 25% คาดว่าจะขึ้น 0.25% ในครึ่งปีหลัง
  • 37% คาดว่าจะขึ้น 0.50% ในครึ่งปีหลัง
  • 17% คาดว่าจะปรับขึ้น 0.75% ในครึ่งปีหลัง
  • 17% คาดว่าจะปรับขึ้น 1.00% หรือมากกว่า ในครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์ 4% ที่มองสวนทางว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลง 0.25% ในครึ่งปีหลัง

ส่วนคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 65 ของตลาดหุ้นไทย มีค่าเฉลี่ยที่ 94.47 บาทเพิ่มขึ้นกว่าผลสำรวจครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 89.11 บาทต่อหุ้น และครั้งนี้คาดการณ์ EPS Growth ของปี 65 อยู่ที่ 8.20 %

ทางด้านคาดการณ์ทิศทางหุ้นไทย ในระยะสั้นช่วงไตรมาส 3/65 ส่วนใหญ่คาดว่ามีแนวโน้มทางลบ รองลงมาคาดว่าเป็น Sideways แต่ก็มีผู้ตอบประมาณ 4% ที่มองว่าเป็นทิศทางบวก โดยมีค่าเฉลี่ยคาดการณ์ดัชนีราคาหุ้นไทย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 1,569 จุด

สำหรับคาดการณ์จุดสูงสุดของ SET Index ช่วงก.ค.-ธ.ค. 65 เฉลี่ยที่ระดับ 1,662 จุด ส่วนจุดต่ำสุดอยู่ที่ 1,486 จุด และเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 65 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,646 จุด ซึ่งลดลง 101 จุดจากระดับคาดการณ์ไว้ครั้งก่อนที่ 1,747 จุด

นักวิเคราะห์แนะนำให้กระจายพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็น

          - เงินสดและเงินฝากระยะสั้น        18.63%
          - กองทุนตราสารหนี้                     14.06%
          - หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย        27.39%
  • หุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 22.92%
          - กองทุนอสังหาฯหรือ REIT           7.31%
          - ทองคำหรือกองทุนทองคำ          8.63%
          - อื่นๆ เช่น น้ำมัน                           1.06%

สำหรับการลงทุนหุ้นไทยนั้น แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจ ค้าปลีก ธนาคาร ท่องเที่ยว สื่อสาร และการแพทย์ ขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจ ปิโตรเคมี พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

รายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำ ตรงกันตั้งแต่ 5 สำนักขึ้นไป มีดังนี้ (เรียงชื่อตามอักษรย่อ)

1. BBL ได้ประโยชน์จากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น จากการมีสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว ขณะที่เงินฝากมี 40% ที่ดอกเบี้ยลอยตัว งบดุลแข็งแกร่ง มูลค่าหุ้นถูก มี PER 7 เท่า และ PBV 0.5 เท่า รวมทั้งมี Dividend Yield ที่สูง 4% ต่อปี

2. BEM แนวโน้มรถใช้ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้าฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการเปิดเทอม เปิดเมืองและยังได้ประโยชน์จากการกลับมาเปิดศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ใน ก.ย.นี้

3. CPN มีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดเมือง และการให้ส่วนลดค่าเช่าน้อยลง

4. KBANK คาดว่าธนาคารจะมีอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่สูงขึ้นและคุณภาพสินเชื่อที่ปรับดีขึ้น และมีมุมมองเชิงบวกเรื่องการร่วมทุนกับ JMT อีกด้วย

ท้ายที่สุด นักวิเคราะห์ยังได้เพิ่มเติมการแนะนำไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายที่จะมีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชน ทั้งปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การลดค่าครองชีพและการเพิ่มกำลังซื้อแก่ประชาชน เพื่อกระตุ้นการบริโภค ตามมาด้วย การช่วยเหลือภาคธุรกิจ ได้แก่ การกระตุ้นการลงทุน การช่วยสภาพคล่องรักษาการจ้างงาน SME รวมถึงสนับสนุนกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานสูงขึ้น และข้อแนะนำสุดท้าย เสนอให้เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ