Decrypto: จาก Smart Contract สู่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทบน Blockchain

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 18, 2022 10:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในปัจจุบันนอกเหนือจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางศาลแล้ว การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางเลือกโดยการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมสูงมากสำหรับข้อพิพาทด้าน Technology และ FinTech อันเนื่องมาจากข้อดีที่ว่าคู่พิพาทสามารถเลือกอนุญาโตตุลาการ (Arbitrator หรือผู้ตัดสินคดี) ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้มาเป็นผู้ตัดสินคดีได้ การดำเนินกระบวนพิจารณามีความยืดหยุ่นและรวดเร็วมากกว่าศาล การเก็บรักษาความลับที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีห้ามนำไปแจ้งต่อบุคคลภายนอก คู่พิพาทสามารถเลือกภาษาที่ใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณา กฎหมาย และสถานที่ที่ใช้ในการตัดสินคดีได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ (Award) ยังคงมีข้อจำกัด คือ มีขั้นตอนต่าง ๆ ในการดำเนินการเพื่อบังคับเอากับทรัพย์สินของผู้แพ้คดีมากมายอันก่อให้เกิดความล่าช้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

เมื่อสองถึงสามปีที่ผ่านมา จึงได้มีความพยายามปรับปรุงกระบวนการอนุญาโตตุลาการให้สามารถปฏิบัติการได้โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย โดยมีชื่อเรียกว่า "Blockchain Arbitration หรือ On-Chain Arbitration" หรือคือการระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการบนบล็อคเชนนั่นเอง

ประเด็นนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นในทุก ๆ ปี ปัจจุบันมีโครงการอย่างน้อยสิบกว่าโครงการทั่วโลกได้พยายามพัฒนานำบล็อกเชนเข้ามาใช้เพื่อระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยการอนุญาโตตุลาการ และแก้ไขปัญหาในเรื่องของความล่าช้าในการบังคับตามคำชี้ขาดฯ ดังกล่าว

ก่อนจะมาทำความรู้จักกับ "Blockchain Arbitration หรือ On-Chain Arbitration" อีกหนึ่งสิ่งที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ "Smart Contract" จึงต้องมาทำความเข้าใจว่า Smart Contract คืออะไร และทำงานอย่างไร ถึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการบนบล็อคเชนได้

*Smart Contract คืออะไร ?

Smart Contract คือ "ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุอยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digital Form) ซึ่งรวมถึง กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตาม" ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ นับได้ว่า มีการรวบรวมคุณลักษณะของ Smart Contract ไว้อย่างชัดเจน

กล่าวคือ เมื่อผู้ซื้อจ่ายเงินด้วยการหยอดเหรียญลงไปในตู้ คำเสนอซื้อเครื่องดื่มได้เกิดขึ้นและถูกเพิกถอนไม่ได้ เงินจะถูกเก็บไว้ในตู้ และธุรกรรมการจำหน่ายเครื่องดื่มจะไม่สามารถหยุดได้จนกว่าเครื่องจะส่งเครื่องดื่มให้แก่ผู้ซื้อ ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะว่าข้อกำหนดและเงื่อนไขในการทำธุรกรรมซื้อขายเครื่องดื่มดังกล่าว (หรือ Smart Contract) ได้ถูกระบุหรือเขียนเป็นโปรแกรมฝังอยู่ในฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่อยู่ในตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัตินั้น

ลักษณะสำคัญของ Smart Contract คือ 1. อยู่ในรูปแบบดิจิทัล คือ Code, Data และ Programme 2. ข้อสัญญาต่าง ๆ ถูกฝังไว้ เป็นโค้ดคอมพิวเตอร์ในซอฟต์แวร์ 3. เป็นสื่อกลางและดำเนินการโดยวิธีการทางเทคโนโลยีทั้งหมด ทั้งการจับคู่คำเสนอและคำสนองที่ตรงกันจนเกิดสัญญาขึ้นมา การจัดให้มีเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การจัดส่งสินค้า การชำระเงิน และการดำเนินการอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้ และ 4. ไม่สามารถยกเลิกสัญญาในระหว่างการดำเนินการของโปรแกรมได้

ปัจจุบัน Smart Contract ยังคงต้องดำเนินการในแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Distributed Ledger Technology (DLT หรือก็คือ เทคโนโลยีที่ทำการกระจายข้อมูลให้ทุกคนในเครือข่าย และทุกคนในเครือข่ายจะถือข้อมูลที่เหมือนกันทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องมีคนกลางในการเก็บข้อมูล) หรือบน Blockchain (ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำงานด้วยแนวคิดของ DLT) ซึ่งก็มีหลาย ๆ ฝ่าย เช่น คู่สัญญาในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับ Digital Assets และ E-Commerce ที่มีความประสงค์จะใช้ข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกันบน DLT หรือ Blockchain จึงได้มีการนำ Smart Contract เข้ามาใช้เพื่อกำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกรรมนั้น ๆ

ดังนั้น ได้มีความพยายามนำข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการบนบล็อคเชน (Blockchain Arbitration Clause) ว่าหากคู่สัญญามีข้อพิพาทกันอันเนื่องมาจาก Smart Contract ก็ตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นหรือที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการบนบล็อคเชน มาใส่เป็นหนึ่งในเงื่อนไขใน Smart Contract ด้วย

"อนุญาโตตุลาการบนบล็อกเชนคืออะไร

"Blockchain Arbitration หรือ On-Chain Arbitration" หรือ อนุญาโตตุลาการบนบล็อกเชน คือ การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ แต่จะดำเนินการโดยอัตโนมัติภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เขียนเป็น Code ไว้ใน Smart Contract ตัวอย่างเช่น การกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ให้ระงับข้อพิพาทโดย Blockchain Arbitration และหากมีคำชี้ขาดฯ ออกมา ระบบก็จะดำเนินการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล (ในจำนวนที่พิพาท) จากฝ่ายที่แพ้คดีไปยังอีกฝ่ายที่ชนะคดีในทันที เป็นต้น

อนุญาโตตุลาการบนบล็อกเชน มักเกิดขึ้นกับการระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Asset Exchange Platform และข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมออนไลน์บน Blockchain กล่าวคือ ข้อพิพาทเหล่านี้มักจะเกี่ยวกับธุรกรรมที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการดำเนินการที่ถูกบันทึกไว้ในเครือข่ายบล็อกเชน

ตัวอย่างเช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับการส่งมอบสินค้าล่าช้า ไม่ส่งมอบสินค้า หรือส่งมอบแลกเปลี่ยนไม่ถูกต้อง ซึ่งเงื่อนไขในการส่งสินค้า ชนิด ระยะเวลาต่าง ๆ และการชำระเงิน ต่างก็ได้ถูกบันทึกลงใน Blockchain ไว้หมดแล้ว การกระทำผิดสัญญาที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายบล็อคเชนจึงสามารถติดตามและประมวลผลออกคำชี้ขาดฯ ได้ง่ายโดยระบบคอมพิวเตอร์ว่าใครเป็นผู้กระทำผิดสัญญา

ข้อดีของอนุญาโตตุลาการบนบล็อกเชน คือ สามารถใช้ระงับข้อพิพาทได้เป็นจำนวนมาก รวดเร็ว และรับประกันได้ว่าจะสามารถบังคับตามคำชี้ขาดฯ ได้โดยไม่ต้องมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม วิธีการระงับข้อพิพาทดังกล่าวยังคงมีข้อจำกัด คือ สามารถนำมาใช้ได้กับธุรกรรมบน Blockchain ที่คู่พิพาทต่างก็มีสินทรัพย์ดิจิทัล และต้องเป็นข้อพิพาทที่ง่าย ไม่ได้มีความซับซ้อนมากนัก เท่านั้น

นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์ ท

นายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา

และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ


แท็ก ตุลาการ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ