"วรพล" แนะ ก.ล.ต.สร้างความเข้มแข็งตลาดทุนช่วยประเทศฝ่า 5 ปัญหาคู่แฝด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 7, 2022 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในช่วงปี 54-58 กล่าวในการเสวนา "ก้าวต่อไปของตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า : ก้าวอย่างเท่าทันและทัดเทียมเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน" ว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาคู่แฝดหลายด้าน ได้แก่ การขาดดุลการคลังปีละ 7 แสนล้านบาทต่อปี มียอดหนี้รวม 10 ล้านล้านบาท ขณะที่มีงบลงทุนเพียง 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.3 ล้านล้านบาท โดยมีเงินลงทุนเกี่ยวกับถนน โรงเรียนอยู่ในระดับต่ำ แค่ 6 แสนล้านบาท ตลาดทุนไทยจำเป็นต้องผลักดันให้ประเทศไทยเกิดความเข้มแข็ง ลดภาระงบประมาณแผ่นดิน ผ่านการนำเงินกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมาช่วยประเทศ โดยเฉพาะการนำไปใช้ในเรื่องของการศึกษา หรือเรื่องอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหา

"เงินกำลังไหลออก ทุนสำรองเริ่มกระทบกระเทือน จะสะสมทุนสำรองได้ไม่ใช่ขึ้นดอกเบี้ย ต้องสะสมด้วยการสร้างให้เกิดการลงทุน มีการลงทุนต่างประเทศเข้ามา มีเงินทุนเข้าตลาดทุน ฉะนั้นตลาดทุนต้องเข้มแข็งพอที่จะดึงดูดให้คนมาลงทุนทำธุรกิจร่วมกับคนไทย เราถึงจะมีเงินทุนเข้าประเทศ ตลาดทุนมีขนาดใหญ่กว่า GDP ประเทศไทย เพราะมีเงินทุนของประเทศอื่นด้วย จึงต้องอาศัยกลไกนี้มาช่วย" นายวรพล กล่าว

ปัญหาแฝดที่ 2 คือ ภาวะคนเกิดน้อยกว่าคนตาย โดยอีกประมาณ 20 ปี ประชากรประเทศไทยจะเหลือ 60 ล้านคน ถัดไปจะเหลือ 50 ล้านคน และเหลือประมาณ 40 ล้านคนใน 60 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อให้ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาแฝดที่ 3 คือ ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่ล้าหลังมาก ทั้ง ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เราไม่มีอุตสาหกรรมอนาคตเลย ทั้ง EV แบตเตอรี่ หรือ Medical Technology เป็นต้น ถือเป็นโจทย์สำคัญว่าจะทำอย่างไรให้เกิดอุตสาหกรรมอนาคต เตรียมคนอย่างไร

ปัญหาที่ 4 คือ ไทยจะอยู่รอดในโลกที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า เพื่อไม่ให้โดนหลอกได้ง่ายได้อย่างไร อีกทั้งไทยกำลังมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนน้อยลง ในขณะที่ธุรกิจเล็กไม่โต และตลาดทุนกำลังจะเกื้อหนุนใครกันแน่ เนื่องจากเราพยายามที่จะไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตทั่วถึง มั่นคง ยั่งยืน ก็ต้องกลับมาคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เศรษฐกิจขนาดเล็ก กลาง เกิดขึ้นมาได้พร้อมกัน

ปัญหาที่ 5 คือความขัดแย้งตะวันตก ตะวันออก และนำมาสู่การต่อสู้ในหลายๆ เรื่องตามมา ซึ่งจะเป็นต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบของปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ

นายวรพล กล่าวว่า ปัญหาทั้ง 5 คู่แฝดนี้ ก.ล.ต.จะต้องรับผิดชอบเรื่องเหล่านี้ด้วย เพื่อดูแลกลไกลระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับเอกชนในและต่างประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าให้ได้ และประเทศไทยจะได้ประสบความสำเร็จ เติบโต มั่นคง ทั่วถึง

"ก.ล.ต.ต้องเป็นองค์กรที่มีคุณค่า ฝากอนาคตเดินตามได้, ต้องมีเป้าหมายชัดเจนที่จะพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤต และอุปสรรค, ต้องเตรียมทรัพยากรให้พร้อม โดยเฉพาะการฝึกคนใหม่ และรักษาคนไว้ให้อยู่ และต้องทำทันที มีข้อมูลพร้อม, สร้างพลังร่วมในการทำงาน ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายร่วมไปถึงสังคม ประชาชน และมองเห็นโอกาสในทุกที่ ที่มีปัญหา" นายวรพล กล่าว

ขณะที่ นายรพี สุจริตกุล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า มองความท้าทายของตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. Interconnectedness หรือความเชื่อมโยงของตลาดทุน ตลาดเงิน ระบบสถาบันการเงิน โดยตลาดตราสารหนี้ กองทุนรวมมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ราว 8 ล้านล้านบาท ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับ 2 ตลาดนี้จะกระทบกับสถาบันการเงินโดยตรง 2. ขาดเครื่องมือกำกับดูแล เนื่องจากที่ผ่านมาฝ่ายกำกับดูแลให้ตัวกลางช่วยตรวจสอบ เป็นผู้ดูแลระบบการส่งมอบมาโดยตลอด เมื่อเกิดปัญหาขึ้นทำให้รับมือได้ยาก อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ และลูกค้าก็เป็นลูกค้าคนใหม่ที่ไม่เคยเจอปัญหามาก่อน จึงมองเป็นความท้าทายต่อไป 3. ยังมีประชาชนถูกหลอกให้ลงทุนป็นจำนวนมาก เนื่องจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ