โบรกฯมองหุ้นไทยไม่ตกต่ำตามศก.สหรัฐ คาดกลางปีฟื้นตัวชัดปัจจัยบวกรออยู่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 1, 2008 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          โบรกเกอร์มองปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐที่ถดถอย คาดไม่กระทบตลาดหุ้นไทย หลังราคสะท้อนในช่วงนี้ เชื่อจะฟื้นในช่วงกลางปีที่ได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตเศรษฐกิจของเอเชีย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งโครงการเมกะโปรเจ็คต์เกิด และภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง 
ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ถดถอยจากกรณีซับไพร์มคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 51 หรืออาจยืดเยื้อไปถึงปี 52 ทั้งนี้ขึ้นกับ
การประเมินความสูญเสียของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับปัญหาซับไพร์มทั้งโดยตรงและโดยอ้อม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลสหรัฐจะนำออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการภาษีที่ได้ประกาศมาก่อนหน้านี้มีมูลค่ารวมกว่า 1.68 แสนล้าน
"ถ้าปัญหาซับไพร์มจบเดือนธ.ค. ตลาดหุ้นทั่วโลกจะรับข่าวก่อนประมาณ 4 เดือน ช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. น่าจะได้เห็นทิศทางการลงทุนตอบรับสถานการณ์นี้ ซึ่งตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกด้านทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียหลังเราซบเซามา 2 ปี" นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด บล.ธนชาต กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจยังได้รับผลดีจากมาตรการการคลังที่ออกมากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคอื่น ๆ ที่กำลังทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในครึ่งปีหลัง และหากรัฐบาลลงทุนในโครงการเมกกะโปรเจ็คต์จริงก็จะสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนั้น ยังคาดว่าภาคการส่งออกเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ได้รับผลดีจากราคาตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่ประเทศเวียดนามและประเทศอินเดียมีปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง แต่ปีนี้เชื่อว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นการบริโภคในประเทศ
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในช่วงปลายเดือน เม.ย.ยังคงจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในวันที่ 9 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ธปท.ควรคำนึงถึงช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและของไทยเพราะหากมีช่องว่างมากเกินไปจะส่งผลต่อภาวะเงินไหลเข้าและการผันผวนของค่าเงิน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อในประเทศปีนี้คาดว่าจะสูงขึ้น เป็นประมาณ 4% ตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ โดยส่วนตัวคาดว่าจะอยู่ในระดับ 4.5% ตามภาวะราคาสินค้าทั้งด้านพลังงาน อาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ