ทรีนีตี้ เก็ง SET ม.ค.ลุ้น 1,700 ธีมหลัก ช้อปดีมีคืน-ท่องเที่ยว-ปันผลสูง-Anti Commodity-วัฏจักรศก.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 3, 2023 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือน ม.ค.66 คาดว่า SET Index แกว่งตัวในกรอบ 1,620-1,700 จุด ในเชิงกลยุทธ์แนะถือครองหุ้นเพื่อ Let profit run สำหรับหุ้นที่ได้เข้าซื้อช่วงดัชนีต่ำกว่าระดับ 1,640 จุด

การถือครองยังคงเน้นไปที่ธีมการลงทุนแนะนำหลักประจำไตรมาส 1 ซึ่งได้แก่ 1. กลุ่ม Domestic cyclical ที่อิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ได้แก่ GLOBAL, PLANB, SC, STEC 2. กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและราคายังคงปรับตัว Laggard ได้แก่ กลุ่ม PF&REIT 3. กลุ่ม Anti-Commodity ที่ได้ประโยชน์จากราคาโภคภัณฑ์ขาลง ได้แก่ GPSC 4. กลุ่ม Counter Cyclical เพื่อ Hedging พอร์ตหากเศรษฐกิจชะลอเร็วกว่าคาด ได้แก่ JMT 5. กลุ่มหุ้นปันผลสูงที่เข้าสู่ High season ได้แก่ ADVANC, SCC, TISCO

นายณัฐชาติ ประเมินว่า ทิศทาง SET ในช่วงเดือน ม.ค.66 ยังไม่มีอะไรน่ากังวลใจมากนัก โดยแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นจากการไถ่ถอนกองทุน LTF นั้นมองไม่มีนัยสำคัญ โดยน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 8 พันล้านบาท หลังนักลงทุนส่วนใหญ่ที่มีการเข้าซื้อกองทุนนี้ในปี 2017 ยังคงประสบผลขาดทุนอยู่ จึงอาจจะไม่ได้มีแรงจูงใจในการขายกองมากนัก

ในส่วนของปัจจัยกระตุ้นอื่น มองไปยังมาตรการ ?ช้อปดีมีคืน? ที่น่าจะช่วยเข้ามาสร้างสีสันให้กับการจับจ่ายใช้สอยในประเทศได้บ้าง ส่วนทางภาคการคลังสหรัฐฯ จับตาความคาดหวังของนักลงทุนเชิงบวกต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ภายหลังจากการเข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการของ Congress ชุดใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนขั้วเสียงข้างมากจากพรรคเดโมแครตไปเป็นรีพับลิกัน

สำหรับการประชุมธนาคารกลางในเดือนนี้ มีที่น่าจับตาได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในวันที่ 25 ม.ค. ซึ่งหากมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ไปอยู่ที่ 1.50% ก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่ Surprise แต่อย่างใด

ปัจจัยที่น่าติดตามระยะสั้น ได้แก่ รายงานตัวเลขภาคการผลิตของประเทศสำคัญต่างๆที่ดูเหมือนจะออกมาอ่อนแอมากขึ้น เปิดความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงถัดไป รวมถึงรายงานตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯประจำเดือนธ.ค. ซึ่งมีโอกาสเป็นตัวกำหนดแผนการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงถัดไป โดยเฉพาะหากตัวเลขจริงออกมาทรงตัวหรืออ่อนแอจากเดือนก่อน เนื่องจากจะเป็นการยืนยันถึงแผนการลดความเร็วการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงถัดไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ