บูลเวนเจอร์ กรุ๊ป เคาะราคา IPO หุ้นละ 3.85 บาท P/E 32.08 เท่า เปิดจอง 8-10 ก.พ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 6, 2023 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บูลเวนเจอร์ กรุ๊ป เคาะราคา IPO หุ้นละ 3.85 บาท P/E 32.08 เท่า เปิดจอง 8-10 ก.พ.

บมจ.บลูเวนเจอร์ กรุ๊ป (BVG) เคาะราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่ 3.85 บาทต่อหุ้น พร้อมเปิดให้จองซื้อวันที่ 8-10 ก.พ.ชูเทคโนโลยี AI ต่อยอดยกระดับแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันพลิกโฉมอุตสาหกรรมประกัน ก้าวสู่การเป็น InsurTech เต็มรูปแบบ พร้อมแต่งตั้ง บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และแต่งตั้ง บล.กรุงศรี บล.ทรีนีตี้ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุน 90 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) ไม่เกิน 67.50 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้น 157.50 ล้านหุ้น

การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ที่เสนอขายในครั้งนี้ พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัทฯ (P/E) และสภาวะการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ราคาหุ้น IPO คิดเป็น P/E เท่ากับ 32.08 เท่า เมื่อคำนวณจากกำไรสุทธิตามงบการเงิน 4 ไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 4/64 ถึงไตรมาส 3/65) ซึ่งเท่ากับ 51.86 ล้านบาท และหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 450 ล้านหุ้น (Fully Diluted) (มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาทต่อหุ้น) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.12 บาท

นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร BVG เปิดเผยว่า บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำการประกอบธุรกิจให้บริการระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน สำหรับบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 20 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ "สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับประสบการณ์ในการใช้บริการและตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา" โดยได้นำฐานข้อมูล (Big Data) มาใช้พัฒนาระบบการให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่าด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อให้บริการระบบแพลตฟอร์มกลางในการจัดการธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ ภายใต้ระบบ EMCS และ บริการ TPA เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานกระบวนการทำงานของอุตสาหกรรมประกัน ก้าวสู่การเป็น InsurTech เต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ กลุ่ม BVG ยังให้บริการฝึกอบรมแก่บุคลากรในธุรกิจประกันภัย ให้คำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย และให้บริการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านการดำเนินงานของ บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด, บริษัท บลูเวนเจอร์ แอคชัวเรียล จำกัด และ บริษัท บลูเวนเจอร์ เทค จำกัด ที่ BVG ถือหุ้น 100%

ทั้งนี้ BVG เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินไหมทดแทนตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการดำเนินธุรกิจประกัน ช่วยผู้ประกอบการลดขั้นตอน ระยะเวลา และลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ พร้อมสร้างประสบการณ์การให้บริการที่เข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภค ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายต่อการใช้งาน ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ภาคธุรกิจการเงินและขยายโอกาสทางธุรกิจไปยังตลาดไปในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

"BVG เป็น Tech Company ที่นำเทคโนโลยีและ Big Data มาใช้พัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม ยกระดับมาตรฐานการให้บริการตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้แก่ลูกค้าในภาคธุรกิจประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ โดยเราพร้อมสร้างการเติบโตจากการขยายขอบเขตการให้บริการด้วยการนำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ พลิกโฉมอุตสาหกรรมประกันสู่การเป็น InsurTech รวมถึงรุกขยายการให้บริการไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน" นายโอฬาร กล่าว

นางนวรัตน์ วงศ์ฐิติรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BVG กล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ BVG จะมุ่งรักษาความเป็นผู้นำในการให้บริการแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากประกันภัยรถยนต์ (ระบบ EMCS) และการให้บริการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสินไหมทดแทน ผ่านระบบแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน (บริการ TPA) โดยนำเทคโนโลยี AI มาใช้ต่อยอดนวัตกรรมการให้บริการ ช่วยยกระดับแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ จะมุ่งขยายเครือข่ายผู้ให้บริการให้ครอบคลุมทุกกระบวนการของธุรกิจประกันภัยมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อขยายการให้บริการระบบ EMCS, บริการ TPA และการให้บริการคำปรึกษาด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยของกลุ่ม BVG ไปในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจประกันภัย เช่น ระบบ EMCS มีแผนพัฒนาบริการ AI Estimate หรือระบบการประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากการเกิดอุบัติเหตุเพื่อประมาณการค่าสินไหม และ AI Inspection เพื่อช่วยบริษัทประกันภัยในการตรวจสภาพรถยนต์ในขั้นตอนการต่อกรมธรรม์ โครงการ Garage Lending หรือการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถยนต์ โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอู่ซ่อมรถยนต์กับสถาบันการเงิน ซึ่งทำให้ BVG สามารถขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่ภาคการเงินที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติม และตอกย้ำการเป็น Industries Game Changer ได้อย่างแท้จริง

ขณะที่บริการ TPA บริษัทฯ มีแผนจัดทำโครงการพัฒนาระบบ Optical Character Recognition ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานโดยไม่ใช้กระดาษ รองรับการปรับตัวของธุรกิจโรงพยาบาลไปสู่ Digital Transformation และสามารถต่อยอดสู่การให้บริการ AI Claim Assessment Automation เพื่อพิจารณาค่าสินไหมโรคพื้นฐานได้อย่างถูกต้อง รองรับจำนวนผู้เอาประกันภัยและจำนวนรายการสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้น

นางสาวพัชพร สรรคบุรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดว่าจะสามารถนำหลักทรัพย์ BVG เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ โดยบริษัทมีแผนนำเงินจากการระดมทุนไปพัฒนาระบบ AI และระบบสารสนเทศ เพื่อต่อยอดธุรกิจและการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียน ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ