IRPC พลิกกำไร Q1/66 ตามยอดขาย-GIM ดีขึ้น แนวโน้ม Q2/66 ปิโตรฯฟื้น-ดีมานด์น้ำมันสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 9, 2023 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

IRPC พลิกกำไร Q1/66 ตามยอดขาย-GIM ดีขึ้น แนวโน้ม Q2/66 ปิโตรฯฟื้น-ดีมานด์น้ำมันสูง

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 1/66 ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศเริ่มฟื้นตัว จากการเปิดประเทศของจีนส่งผลต่อการท่องเที่ยวของไทยขยายตัวสูงขึ้น ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทฯ กลับมาผลิตตามปกติหลังจากเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Turnaround) ในไตรมาส 4/65 (1 เดือน) รวมถึงต้นทุนราคาน้ำมันดิบ (Crude Premium) ปรับตัวลดลง ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติในประเทศกลุ่มบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และป้ายโฆษณา รวมทั้งช่วงฤดูร้อนยังสนับสนุนให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นด้วย จากปัจจัยข้างต้นส่งผลต่อผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 75,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,679 ล้านบาท หรือ 38% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากปริมาณการขายเพิ่มขึ้นถึง 62% แม้ราคาขายเฉลี่ยลดลงร้อยละ 24 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 7,084 ล้านบาท หรือ 11.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 172 เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันดิบ (Crude Premium) ปรับตัวลดลง

ขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 5,342 ล้านบาท หรือ 8.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขาดทุนจาก Accounting GIM ถึง 4,207 ล้านบาท หรือ 10.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/66 มีกำไรสุทธิจำนวน 301 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,450 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/65 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 7,149 ล้านบาท แนวโน้มตลาดปิโตรเคมี ในช่วงไตรมาส 2/66 ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับสูงขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่มีสต๊อกสินค้าระดับสูง ขณะที่ความต้องการในภูมิภาคยังคงระดับต่ำจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะความกังวลวิกฤตการเงินของธนาคารหลายแห่งทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีโอกาสลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีกำลังการผลิตใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งจากประเทศจีน มาเลเซียและเวียดนามจะเป็นแรงกดดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในภูมิภาคเอเชียลดลง

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 2/66 คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันของโลกจะเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักจากการเปิดประเทศของจีน รวมถึงธุรกิจการบินมีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวใกล้ถึงระดับก่อนการระบาดของ COVID-19 สำหรับปริมาณสินค้า(อุปทาน) คาดว่าจะมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากโอเปกและพันธมิตรมีมติลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมถึง 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงสิ้นปี 2566) ประกอบกับเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัสเซียได้ประกาศขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันดิบ 0.50 ล้านบาร์เรลต่อวันถึงสิ้นปี 2566อย่างไรก็ดีคาดว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบจะมีแรงต้านจากความต้องการบางส่วนหายไป เนื่องจากเข้าสู่ฤดูปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงไตรมาส 2/2566 นายกฤษณ์ กล่าวต่อไปว่า แม้ช่วงไตรมาส 1/66 บริษัทจะกลับมามีกำไร แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนประกอบธุรกิจ และความต้องการสินค้า ขณะที่ราคาน้ำมันดิบก็ยังมีความผันผวน ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้ผลประกอบการตลอดทั้งปีตามแผนมีความท้าทายยิ่งขึ้น บริษัทฯ เร่งปรับตัวเพื่อบรรเทาผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ มุ่งรักษาเสถียรภาพทางการเงิน พิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบโดยปรับแผนการผลิตและการบริหารจัดการสต็อกวัตถุดิบเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา การปรับลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนใช้ประโยชน์จากการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมันและโรงปิโตรเคมี ที่ซ่อมบำรุงแล้วเสร็จอย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้พลังงานน้อยลงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ