ThaiBMA คาดปี 66 ออกหุ้นกู้แตะ 1 ล้านลบ. เฝ้าระวังหุ้นกู้ Default -เร่งสร้างความเชื่อมั่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 5, 2023 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ThaiBMA คาดปี 66 ออกหุ้นกู้แตะ 1 ล้านลบ. เฝ้าระวังหุ้นกู้ Default -เร่งสร้างความเชื่อมั่น

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คาดว่า ในปี 66 ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวขอบบริษัทมีโอกาสแตะที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท สูงกว่ายอดการออกเฉลี่ยในช่วง 7 ปี (ปี 2559-2565) ที่ 9.5 แสนล้านบาท แต่ต่ำกว่า ปี 65 ที่มียอดการออกหุ้นกู้ที่ 1,271,641 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาปี 66 มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวไปแล้ว 824,557 ล้านบาท

ขณะที่ในไตรมาส 4/66 มีหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดทั้งสิ้น 156,750 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของหุ้นกู้ High Yield ที่จะครบกำหนดในไตรมาส 4/66 จำนวน 35 บริษัท รวมมูลค่า 22,830 ล้านบาท ในจำนวนบริษัทดังกล่าวมีหลายบริษัทที่สมาคมจับตามอง ว่าจะมีแนวทางในการชำระอย่างไร เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันรวมทั้งผลกระทบจากความเชื่อมั่นกรณีผิดนัดชำระหุ้นกู้ของหลายบริษัทในช่วงที่ผ่านมา

ThaiBMA คาดปี 66 ออกหุ้นกู้แตะ 1 ล้านลบ. เฝ้าระวังหุ้นกู้ Default -เร่งสร้างความเชื่อมั่น

อย่างไรก็ตามมูลค่าคงค้างหุ้นกู้มีปัญหา ณ สิ้นเดือน ก.ย. 66 อยู่ที่ 39,765 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมหุ้นกู้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลเนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% จากหู้นกู้ทั้งหมดในระบบ

"เชื่อว่าในปีนี้จะไม่มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระอีก เนื่องจากทุกคนมีความระมัดระวังมากขึ้น หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์บริษัทผิดชำระหุ้นกู้ตั้งแต่ต้นปี ดังนั้นก่อนที่บริษัทเตรียมจะออกหุ้นกู้ ได้มีการวางแผนแหล่งเงินสำรองไว้แล้ว"นางสาวอริยา กล่าว

นอกจากนี้ทางสมาคมตลาดตราสารหนี้ได้มีการพูดคุยกับตลาดหลักทรัพย์ในการร่วมมือกันแบ่งปันข้อมูลทางการเงินต่าง ๆ ที่ได้เปิดเผยให้กับนักลงทุนในหุ้นกู้ ซึ่งในปีหน้าสมาคมเตรียมเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงวิธีในการสร้างความมั่นใจว่าผู้ออกหุ้นกู้มีวินัยทางการเงินการคลังในระดับที่เหมาะสม อาจจะต้องมีมาตรฐานหรือเงื่อนไขทางการเงินของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยปกป้องนักลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อหุ้นกู้ได้ด้วย โดยมาตรการดังกล่าวจะต้องระบุตั้งแต่ต้นก่อนออกหุ้นกู้

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้นมาตลอดตั้งแต่ต้นปี ทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับตัวสูงขึ้นมากจนบริษัทเอกชนที่เปราะบางบางรายเกิดปัญหาในการชำระหนี้คืน แต่ในช่วง3 ไตรมาสแรกของปี 66 ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัวได้ 5.8% จากสิ้นปีที่แล้ว หรือมีมูลค่าเท่ากับ 16.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 96% ของ GDP โดยเพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน

กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ของนักลงทุนต่างชาติ มียอดการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยติดต่อกันอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส ทำให้มียอดการขายสุทธิสะสม 1.5 แสนล้านบาท การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาส 3/66 มียอดรวมที่ 9.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.6% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ยที่ 8.3 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.0 ปี เมื่อ ณ สิ้นปี 65

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 ปรับตัวสูงขึ้นทุกช่วงอายุ โดยมีความชันลดลงจากการปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากของ Bond yield ระยะสั้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย 5 ครั้งในปี 2566 อีกทั้งการประกาศแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ที่เพิ่มขึ้น 0.16 ล้านล้านบาท จากปีงบประมาณที่ผ่านมา ประกอบกับเริ่มมีความชัดเจนในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายโครงการ ส่งผลให้ Bond yield ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาส 3 โดย Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 90 bps. จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 2.54% ส่วน Bond yield 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 54 bps. มาอยู่ที่ 3.18% ณ สิ้นไตรมาส 3

อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) อายุ 5 ปีของหุ้นกู้ทุกอันดับเครดิตปรับตัวสูงขึ้น 64-87 bps. ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 ใกล้เคียงกับการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ต้นทุนการกู้ยืม อันดับเครดิต AAA ปรับตัวมาอยู่ที่ 3.48% AA ที่ 3.73% A ที่ 3.94% BBB+ ที่ 4.95% และ BBB ที่ 5.90%

นอกจากนี้ นายสมจินต์ กล่าวถึงผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของผู้ร่วมตลาด ที่ส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในเดือนพฤศจิกายนนี้ ขณะที่ Bond yield รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 10-15 bps. จาก ณ สิ้นไตรมาส 3 ขึ้นไปที่ 2.94% สำหรับรุ่นอายุ 5 ปี และขึ้นไปที่ 3.29% สำหรับรุ่นอายุ 10 ปี ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และอุปสงค์-อุปทานของตลาดตราสารหนี้ไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ