"ไซยะบุรี เพาเวอร์" ออก Green Bond สกุลบาทชูดอกเบี้ย 5.15-5.55% ขายสถาบัน-รายใหญ่ 20-25 ต.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 11, 2023 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรพจน์ อุชุไพบูลย์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี และเป็นบริษัทร่วมในเครือของ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) เปิดเผยว่า XPCL เตรียมที่จะออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสกุลเงินบาท (Green Bond) ครั้งที่ 1/2566 ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้แก่นักลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ชุด คือ

หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2569 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.15 ต่อปี

หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 4 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2570 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.30 ต่อปี

หุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม ปี 2571 อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.55 ต่อปี

สำหรับหุ้นกู้ทั้ง 3 ชุดสามารถจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท ในวันที่ 20, 24 และ 25 ต.ค.66 เสนอขายผ่านธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บล.เกียรตินาคินภัทร และ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง

XPCL จะนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนเงินกู้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และช่วยลดต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย

หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ กรีนบอนด์ สกุลเงินบาทของ XPCL ที่เสนอขายในครั้งนี้ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ "BBB+" แนวโน้ม "คงที่" ขณะที่ XPCL มีอันดับเครดิตองค์กรที่ "A-" แนวโน้ม "คงที่"

อันดับความน่าเชื่อถือสะท้อนสถานะของบริษัทที่มีกระแสเงินสดที่มั่นคง จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมถึงโครงสร้างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ช่วยลดความเสี่ยง และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แข่งขันได้ โดย XPCL มีผู้ถือหุ้นหลักเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ CKPower (TRIS Rating: A) ถือหุ้น 42.5% บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) (TRIS Rating: AA+) ถือหุ้นผ่านบริษัทย่อยที่ 25% และ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) (TRIS Rating: AA+) ถือหุ้น 12.5%

หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของ XPCL มีการจัดทำและดำเนินการตามกรอบตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond Framework) ตามมาตรฐาน Green Bond Principles 2021 และ ASEAN Green Bond Standards 2018 และได้ผ่านการสอบทานโดยองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำของโลก DNV ในฐานะผู้สอบทานอิสระ (Independent External Reviewer) ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันถึงมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของ XPCL ได้เป็นอย่างดี โดย XPCL ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้แก่นักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 65 ที่ผ่านมา โดยมียอดขายรวมสูงถึง 8,395 ล้านบาท

นายวรพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าในขณะนี้ผู้ลงทุนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของ สปป.ลาว แต่ขอให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่า XPCL จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยมองว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นถือเป็นรายได้หลักที่สำคัญของ สปป.ลาว ในการเป็น Battery of Asia

อีกทั้ง บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรัดกุม โดยจัดการกระแสเงินสดที่เกี่ยวกับการดำเนินงานผ่านบัญชีของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดในประเทศไทย รวมถึงมีการสำรองเงินสดล่วงหน้าเพื่อให้มีความพร้อมในการชำระดอกเบี้ย จ่ายคืนเงินกู้ และไถ่ถอนหุ้นกู้ ซึ่งบัญชีทั้งหมดก็อยู่ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ XPCL มีรายได้เป็นสกุลเงินบาทและดอลล่าร์สหรัฐ และมีค่าใช้จ่ายที่เป็นสกุลเงินกีบในสัดส่วนที่น้อยมาก จึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินกีบอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

XPCL ได้รับสัมปทานจากรัฐบาล สปป.ลาว ให้ออกแบบ พัฒนา ก่อสร้าง และดำเนินการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี กำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 ต.ค.62

ทั้งนี้ XPCL ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำได้เฉลี่ยประมาณ 7,400 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี (GWh/Year) ซึ่งจัดเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เป็นพลังงานสะอาดที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 3.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e)

ผลการดำเนินงานของ XPCL ในปี 65 มีรายได้ 16,230 ล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 14,730 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน EBITDA Margin 91% และในช่วงครึ่งแรกของปี 66 มีรายได้จำนวน 5,211 ล้านบาท มี EBITDA จำนวน 4,567 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน EBITDA Margin 88% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ณ วันที่ 30 มิ.ย.66 ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.8 เท่า ซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนดหุ้นกู้ที่ให้ดำรงอัตราส่วนดังกล่าวไม่ให้สูงเกิน 3.0 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ