AOT คาดงวดปี 67 ผู้โดยสารฟื้นมาใกล้ก่อนโควิดจัดงบหมื่นล้านขยายสนามบินร ยันให้ส่วนลดไม่กระทบผลงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 21, 2023 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ( AOT ) คาดว่า ในงวดปี 67 (ต.ค.66-ก.ย.67) จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 120-130 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากงวดปี 66 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 100.06 ล้านคน โดยจะกลับไปใกล้เคียงกับปี 62 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด โดยปัจจุบันผู้โดยสารภายในประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว หรือคิดเป็น 95% ของปี 62 ส่วนผู้โดยสารต่างประเทศกลับมาได้ราว 70-75%

ในปี 67 เชื่อว่าผู้โดยสารต่างประเทศจะมีความสนใจเดินทางกันมากขึ้น แต่สายการบินต่างๆ ยังไม่มีความพร้อมกลับมาให้บริการได้มากเท่าเดิม โดยเฉพาะตลาดจีนฟื้นตัวเพียง 60% ของปี 62 ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจีน และสายการบินจีนได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงโควิด จึงคาดว่าตลาดจีนต้องใช้เวลาฟื้นตัว แต่เมื่อรัฐบาลไทยมีมาตรการฟรีวีซ่า ก็มีสายการบินใหม่ของจีนแจ้งขอสิทธิเข้ามาแล้ว อีกทั้งชาวยุโรปและรัสเซียกลับเข้ามามากกว่าเคย ทำให้บริษัทมั่นใจว่าปี 67 จะกลับมาสู่ภาวะปกติ

นายกีรติ กล่าวว่า จากมาตรการวีซ่าฟรีช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว พบว่านักท่องเที่ยวจีนก่อนมีมาตรการมีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 13,200 คน เพิ่มเป็น 16,800 คน หรือเพิ่มขึ้น 27% คาซัคสถาน จาก 230 คนต่อวัน เพิ่มเท่าตัวเป็น 500 คนต่อวัน อินเดีย จาก 5,100 คนต่อวน เพิ่มขึ้น 17% เป็น 6,000 คนต่อวัน และไต้หวัน จาก 3,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 18% เป็น 4,500 คนต่อวัน

"ตอนนี้อุตสาหกรรมการบินเป็นขาขึ้นปริมาณผู้โดยสารตอบรับดี สายการบินใหม่ก็เกิดขึ้น AOT มีทิศทางดีขึ้น รายได้โตตามปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ส่วนนักท่องเที่ยวจีนค่อยๆ ขึ้น ไม่ได้ขึ้นสูงมาก แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นตามที่คาด"นายกีรติ กล่าว

สำหรับการลงทุนขยายท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวประเทศ AOT จัดงบลงทุน ปี 67-72 รวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งในในปี 67 จะใช้เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ในปี 68 จะลงทุน 2.1 หมื่นล้านบาท ปี 69 ลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท ปี 70 ลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท ปี 71 ลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท และ ปี 72 ใช้เงินลงทน 1.2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดในมือ 4-5 พันล้านบาทและคาดว่างวดปี 67 จะมีเงินสดเข้ามาอีก 7 หมื่นล้านบาท

นายกีรติ กล่าวว่า โครงการแรกที่จะดำเนินการ คือ โครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) มูลค่าเงินลงทุน 9 พันล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน ก.ค.67 เริ่มก่อสร้างปี 67 แล้วเสร็จปี 70 จะเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อีก 15 ล้านคนต่อปี

ขณะที่รันเวย์ที่ 3 อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 67 รวมทั้งเปิดใช้อาคารรองเทียบเครื่องบิน (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 80 ล้านคนต่อปี ซึ่งระหว่างรอการก่อสร้าง East Expansion จะเพิ่มศักยภาพด้วยการใช้เทคโนโลยี Auto Channel

ทั้งนี้ AOT ติดตั้ง Auto Channel เฟสแรกแทนเครื่องเก่าใช้งบราว 600-700 ล้านบาท ส่วนการ ติดตั้ง Auto Channel เฟส 2 จะติดตั้ง แทนที่การใช้เคาท์เตอร์เจ้าหน้าที่ ตม. ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร รองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน โดยจะดำเนินการในปี 67 นอกจากนี้ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 เงินลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการออกแบบ คาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จในปี 67 ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว คาดจะเปิดประมูลปลายปี 67 จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 68

ตามแผนงานจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อให้บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศพื้นที่บริการกว่า 160,000 ตารางเมตร หลังจากนั้นจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 1 และอาคารผู้โดยสาร 2 เพื่อให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศรวมพื้นที่ 240,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงระบบจราจรทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์เข้าสู่ชานชาลาผู้โดยสารขาออก และก่อสร้างทางขึ้นทางยกระดับดังกล่าวจากภายในท่าอากาศยานดอนเมืองตลอดจนก่อสร้างจุดเชื่อมต่ออาคารผู้โดยสารไปยังรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วย

ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ใช้งบลงทุน 8 พันล้านบาท จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิม 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี อยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าจะเปิดประมูลปลายปี 67 คาดใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดใช่งานภายในปี 72

และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2งบลงทุน 8.3 พันล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์จ้างบริษัทออกแบบ และคาดว่าจะเปิดประมูลในไตรมาส 2 ปี 68 เริ่มก่อสร้างในปี 69 แล้วเสร็จปี 72โดยจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 12.5ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี

ด้านโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงราย ระยะที่ 1 จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 6 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์จ้างผู้ออกแบบในปี 67 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 69 แล้วเสร็จในปี 72

นายกีรติ กล่าวต่อว่า สนามบินใหม่ 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานล้านนา และ ท่าอากาศยานอันดามัน อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คาดว่าใช้เวลา 6 เดือน หรือประมาณกลางปี 67จะได้ข้อสรุป และงบลงทุน และนำเสนอโครงการต่อสภาพัฒน์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อตั้งงบลงทุน และศึกษาแผนลงทุนและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ขณะที่การให้ส่วนลดกับสายการบินที่สามารถเพิ่มเที่ยวบิน นอกเหนือจากจำนวนเที่ยวบินตามตารางการบินนั้นจะได้รับส่วนลดค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน 175 บาทต่อผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 1 คน แต่ส่วนลดนั้นจะต้องไม่เกิน 75% ของค่าบริการขึ้นลงของอากาศยานของเที่ยวบินส่วนเพิ่ม ระยะเวลาในช่วง 1 พ.ย.66-31 มี.ค.67 นายกีรติ กล่าวว่า บริษัทให้ส่วนลดเฉพาะ slot ที่คาดว่าเพิ่มจะช่วยทำให้รายได้เพิ่มขึ้น 15%

สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในสนามบิน ซึ่งรวมถึงกลุ่มคิงเพาเวอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบเพราะบริษัทยังรับรู้รายได้ เพียงแต่ให้เลื่อนชำระและแบ่งผ่อนจ่ายได้ 12 เดือน ก็ทำให้กระแสเงินสดเลื่อนรับออกไป เพราะต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการภายในสนามบินยังรับผลกระทบจากโควิด และเมื่อธุรกิจการบินกลับมาก็ต้องมีทุนเพื่อปรับปรุงร้านเตรียมรับผู้โดยสาร

https://youtu.be/bJdXfii95IU


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ