ประธาน FETCO ถอดรหัส 3 ปัจจัยหลัก กนง.ลดดอกเบี้ย เชื่อแรงกดดันการเมืองไม่มีผล

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 10, 2024 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโบายการเงิน (กนง.) จะยึดหลักการสำคัญ คือ การพิจารณาอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันการที่อัตราเงินเฟ้อของไทย -0.83% เนื่องจากสินค้าจีนเข้ามาทำให้ราคาสินค้าในไทยลดลง รวมทั้งราคาน้ำมันปรับตัวลงต่อเนื่อง จึงต้องพิจารณาควบคู่กับเงินเฟ้อพื้นฐานไทยที่อยู่ราว 0.5-0.6% ก็ยังถือว่าต่ำมาก สะท้อนว่าเงินเฟ้อระดับนี้ไม่ใช่ปัญหา

ถัดมา กนง.ต้องพิจารณาว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเป็นอย่างไร ต้องการแรงกระตุ้นหรือไม่ รวมทั้งแรงกระตุ้นจากภาครัฐจะเข้ามามากน้อยเพียงใด เพื่อประเมินทิศทางของเศรษฐกิจ และพิจารณาความจำเป็นในการลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การส่งออกกลับมาดีขึ้น จะเป็นแรงส่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินทุนก็จะไหลเข้ามาที่ตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง Sentiment ต่างๆ ที่จะดีขึ้นช่วงปลายปี เพื่อประเมินว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเหมาะสมหรือไม่

"ผมว่ามุมมองทางการเมืองกับทิศทางของดอกเบี้ยต้องไปถามแบงก์ชาติ ซึ่งผ่านเรื่องแบบนี้มาเยอะแล้ว ผมมั่นใจว่าเป็นเรื่องปกติ ก็เป็นการดูว่ากรรมการจะทำหน้าที่ของตนเองอย่างไร รอดูหลังประชุมเขาออกมาชี้แจงว่ามุมมองของเขาจากปัจจัยต่าง ๆ คืออะไร" นายกอบศักดิ์ กล่าว

ประธาน FETCO กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 67 ว่า น่าจะยังไปต่อได้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ราว 3-4% ขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่การส่งออกเริ่มทรงตัวจากแนวโน้มเศรษฐกิจในต่างประเทศเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีปัญหา โดยเติบโตต่ำกกว่าช่วงก่อนโควิดประมาณ 10% เนื่องจากสินค้าจีนที่นำเข้ามาในไทยกดดันผู้ผลิตทุกราย

ส่วนการที่เงินเฟ้อไทยล่าสุดติดลบไม่เกี่ยวข้องการกับการที่เศรษฐกิจไทยไม่ดีจนกระทั่งไม่มีคนใช้จ่าย เพราะการบริโภคในประเทศ รวมทั้งการท่องเที่ยวยังเป็นปกติ และยังมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตก็จะยังเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนว่าเงินเฟ้อที่ติดลบในครั้งนี้ไม่ได้มาจากเศรษฐกิจที่มีเป็นปัญหา

ขณะที่ปี 67 คาดว่าจะเป็นการเข้าสู่ช่วงใหม่ของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อม ๆ กันจากธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ส่งผลบวกต่อตลาดทุนไทย อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวในปี 67 คาดว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจะชะลอลงบ้าง ส่งผลให้แรงส่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยน้อยลงหรือไม่ได้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้มากเท่าในอดีต

ปัจจัยที่ต้องติดตาม ซึ่งจะมีผลต่อตลาดทุนไทยระยะสั้นในปี 67 คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกองทุนระหว่างประเทศคาดว่าปี 67 การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะน้อยที่สุด ขณะที่วิกฤตอสังหาในจีนยังส่งผลกระทบอยู่ต่อเนื่อง รวมทั้งประเด็นวิกฤติสงครามในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะการปิดเส้นทางทะเลแดง ทำให้ต้นทุนค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้วิกฤติในตลาด Emerging และความผันผวนในตลาดการเงินโลกยังเป็นปัจจัยที่ต้องติตตาม

สำหรับเม็ดเงินจากต่างชาติในตลาดหุ้นไทยมองว่าในปี 66 ลดลงไปค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งพื้นฐานตลาดหุ้น ราคา และ รายได้ของแต่ละบริษัทจดทะเบียนน่าจะสมดุลกันมากขึ้น ประธาน FETCO มองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเน้นเรื่องของการสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับตลาดทุนไทย อาทิ การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ การปรับกฎเกณฑ์ให้ง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นการท่องเที่ยว ผลักดันให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ Start Up ให้มากขึ้น

"ประเด็นดังกล่าวจะนำความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจระยะยาว และเงินทุนจะไหลกลับเข้ามา นอกจากนี้ในช่วงปลายปีเป็นช่วงที่ Sentiment ของโลกปรับตัวดีขึ้นจากการลดดอกเบี้ย จะเข้าสู่ช่วงของการลงทุน ไทยจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการลงทุนเช่นเดียวกัน"นายกอบศักดิ๋ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ