ภาคอสังหาเสนอนายกฯ เพิ่มเพดานมาตรการลดค่าธรรมเนียม-ยกเลิก LTV-ฟื้นบ้านดีมีดาวน์-ปรับเกณฑ์ BOI

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 10, 2024 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสร เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า วันนี้ได้เข้าร่วมกับตัวแทนจากสมาคมที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์เข้าหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เพื่อหารือมาตรการที่เข้ามาช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลสามารถนำไปช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัย โดยขอให้มีมาตรการกระตุ้นหรือผ่อนคลายบางกฎเกณฑ์ที่จะช่วยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยกลับมาฟื้นตัวได้ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข้อเสนอที่ยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี ได้แก่

  • การขยายเพนดานราคาที่อยู่อาศัยภายใต้มาตรการลดค่าธรรมเรียมการโอนและจดจำนอง หลังจากรัฐบาลต่ออายุให้อีก 1 ปีถึงสิ้นปี 67 สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยมือหนึ่งและมือสองราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านมีสัดส่วนในตลาดเพียง 20% จึงเสนอให้มีการขยายเพดานไปถึงระดับราคา 10 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมที่อยู่อาศัยกว่า 60-70% ในตลาด ช่วยให้คนซื้อบ้านได้หลายระดับ รวมถึงการขอยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะที่ถือเป็นภาษีที่คิดซ้ำซ้อน ทำให้ต้องนำภาษีดังกล่าว 3.3% มาคิดคำนวณเข้าไปเป็นต้นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย
  • ขอให้รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก อย่างในอดีตที่เคยมีโครงการบ้านดีมีดาวน์ ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนเงินดาวน์สำหรับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรก 50,000 บาท/ราย เสนอให้รัฐบาลทบทวนนำมาตรการดังกล่าวกลับมาใช้ พร้อมเพิ่มวงเงินสนับสนุนเป็น 100,000 บาท/ราย
  • ปรับปรุงเกณฑ์โครงการบ้านบีโอไอ เสนอให้ปรับเกณฑ์เป็นราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 1.2 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน โดยเฉพาะต้นทุนที่ดินและต้นทุนการก่อสร้าง และไม่ควรจำกัดโซนนิ่งในการพัฒนาเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น
  • การผ่อนคลาย หรือ ยกเลิกมาตรการ LTV ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อบ้านหลังที่ 2 และ 3 ทำให้ต้องใช้เงินในการดาวน์สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการชะลอตัดสินใจซื้อ ซึ่งในปัจจุบันการเก็งกำไรถือว่ามีน้อยมาก แต่ผู้ที่มีกำลังซื้อต้องการขยับขยายหาที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงานมากขึ้น ซึ่งในอีกแง่สามารถนำเงินค่าเดินทางไปผ่อนชำระค่าที่อยู่อาศัยแทน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังมีเกณฑ์ DSR ที่มาวิเคราะห์และพิจารณาความสามารถในการกู้ของลูกค้าที่เข้ามาขอสินเชื่ออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องนำเกณฑ์ LTV มาใช้
  • การดึงดดูดกำลังซื้อต่างชาติเข้ามาโดยการให้สิทธิพิเศษใหม่เข้ามาเสริม โดยเฉพาะการให้วีซ่าระยะกลางแก่ชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย เช่น ซื้อคอนโดมิเนียม 5 ล้านบาท ได้สิทธิวีซ่า 5 ปี เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเสริมเข้ามาจากการให้วีซ่าระยะยาว 10 ปี ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นกำลังซื้อต่างชาติให้เข้ามาในไทยมากขึ้น

นายวสันต์ กล่าวว่า ยังคงต้องติดตามว่าข้อเสนอที่ได้เสนอไปนั้นจะยังต้องมีการทำงานร่วมกับคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเหมาะสม และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ แต่เชื่อว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ในระยะกลางถึงระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ