ZoomIn: โบรกจับตาหุ้นกู้กลุ่มรับเหมาเสี่ยงสูงผิดนัด กลุ่มอสังหา-ปิโตรเสี่ยงปานกลาง ส่วนใหญ่ยังแกร่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 23, 2024 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระคืนในปี 67 มีจำนวนรวม 8.9 แสนล้านบาท และจากที่การผิดนัดชำระหุ้นกู้หลายรายในปี 66 สร้างความกังวลกับนักลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ได้รวบรวมข้อมูลหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในแต่ละปีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป พบว่า หุ้นกู้กลุ่มรับเหมาก่อสร้างมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง จับตามเป็นพิเศษคือ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ (NWR) และ บมจ.อิตาเลียไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ (ITD) เพราะมีหุ้นกู้ครบกำหนดปีนี้ค่อนข้างมาก

ส่วนกลุ่มปิโตรเคมี มีความเสี่ยงปานกลาง ให้จับตา IVL เป็นพิเศษ เพราะมีหนี้ค่อนข้างสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจยังมีความผันผวนด้านกำไร

ขณะที่ กลุ่ม ICT มีมูลค่าคงค้างอยู่รวมกันราว 2.2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ 1.8 แสนล้านบาท เป็นของ TRUE ซึ่งในปี 2567 นี้จะครบกำหนดราว 3.6 หมื่นล้านบาท กลุ่มพาณิชย์ มีมูลค่าหุ้นกู้คงค้างรวมกัน 3.5 แสนล้านบาท โดยบริษัทที่มีหุ้นกู้ในมูลค่ามากสุดคือ CPALL ที่ 2.2 แสนล้านบาท

*กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง

  • มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง บริษัทที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ NWR และ ITD เพราะมีหุ้นกู้ครบกำหนดปีนี้ค่อนข้างมากในขณะที่ธุรกิจหลักยังมีผลขาดทุนและมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงมาก ส่วนบมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ บมจ.สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) ซึ่งมีเครดิตเรตติ้ง BBB- และ มีฐานกำไรต่ำ ก็ต้องให้ความระมัดระวังเช่นเดียวกัน
*กลุ่มอสังหาฯ (พัฒนาที่อยู่อาศัยและเพื่อเช่า)
  • มีความเสี่ยงปานกลาง แม้ปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดสูง 1.06 แสนล้านบาท (สัดส่วน 35% ของหุ้นกู้ทั้งหมด) แต่ส่วนใหญ่อยู่ใน
กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์(LH), บมจ.เซ็นทรัลพีฒนา (CPN), บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) (FPT),บมจ.แสนสิริ (SIRI), บมจ.ศุภาลัย (SPALI), บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) และ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP) ที่มีธุรกิจมั่นคง การเงินค่อนข้างดี

สำหรับบริษัทที่มีผลขาดทุน และ อัตราหนี้สินต่อทุนสูงกว่ากลุ่มฯ อย่าง บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ปีนี้มีหุ้นกู้ครบ 7 พันล้านบาท ได้คืนสำหรับเดือน ม.ค. แล้ว 3.8 พันล้านบาท ที่เหลือ 3.2 พันล้านบาท จะครบ ก.ค. 2567 ส่วนบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) ปีนี้ครบรวม 6.7 พันล้านบาท เตรียมคืนหุ้นกู้ ไตรมาส 1/67 รวม 2.68 พันล้านบาท เรียบร้อยแล้ว สำหรับหุ้นกู้เหลือต้องติดตามต่อไป

*กลุ่มปิโตรเคมี
  • มีความเสี่ยงปานกลาง บริษัทที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) (AA-) เพราะหนี้รวมค่อนข้างสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจยังมีความผันผวนด้านกำไรเพราะอิงกับราคา commodity ซึ่งแปรผันตามเศรษฐกิจ ต้องให้ความระมัดระวัง

*กลุ่มท่องเที่ยว

  • บมจ.โรงแรมเซ็นทรีลพาซา (CENTEL) (Rating A - / Tris) ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดชำระภายในปี 2567 ราว 6 ร้อยล้านบาท ขณะที่สัดส่วน D/E ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 0.7 เท่า จึงมองความเสี่ยงทางการเงินต่ำ
  • บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) ไม่มีการใช้ตราสารหนี้ ความเสี่ยงจากความกังวลด้านตราสารหนี้ ต่ำสุดในกลุ่มฯ
  • บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) (Rating A / Tris) : ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดชำระภายในปี 2567 ราว 1.1 หมื่นล้านบาท ในเชิง Net gearing ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/66 ที่ 1 เท่า ต่ำกว่า Debt covenant ที่ 1.75 เท่า และกรอบการบริหารภายในของบริษัทที่ 1.3เท่า ขณะที่เงินสดในมือ ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท จึงประเมินอยู่ในการบริหารจัดการ โดยในกลุ่มโรงแรม ภายใต้เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรง ส่งผลต่อเนื่องถึงภาคท่องเที่ยวไทย ทำให้ MINT ที่โครงสร้างโรงแรมอยู่ใน EU ราว 50% ของรายได้ ซึ่งพึ่งพาจีนน้อย ประเมินแรงกดดันจากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจจีนต่ำกว่ากลุ่มฯ

*กลุ่มจำนำทะเบียน

ถือเป็นกลุ่มที่ใช้ Financial leverage สูง เพื่อนำเงินไปปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ดีสัดส่วน D/E หุ้นในกลุ่มฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ Debt covenant หรือกรอบการบริหารจัดการโครงสร้างเงินทุนภายในของแต่ละบริษัทที่คุมไม่ให้เกิน 4 เท่า

  • บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) (Rating BBB+ / Tris) : ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดชำระภายในปี 2567 ราว 2.5 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วน D/E ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 3.7 เท่า ยังอยู่ในกรอบการบริหาร

-บมจ.ศรีสวัสด์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) (Rating BBB+ / Tris) : ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดชำระภายในปี 2567 ราว 9.8 พันล้านบาท โดยสัดส่วน D/E ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 2.7 เท่า อยู่ในกรอบการบริหารจัดการ

  • บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) (Rating A / Tris) : ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดชำระภายในปี 2567 ราว 8.3 พันล้านบาท โดยสัดส่วน D/E ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 2.4 เท่า อยู่ในกรอบการบริหารจัดการ

*กลุ่มนิคมฯ

  • มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจาก rating ของบริษัทนิคมฯ อยู่ในเกณฑ์ดี บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรต่อเนื่อง ประกอบกับฐานะการเงินแข็งแกร่งสะท้อนจาก net gearing ratio ที่ 0.6 - 0.9 เท่า นอกจากนี้หุ้นกู้บริษัทนิคมฯ มีอายุไม่เกิน 5 ปี

*กลุ่มวัสดุก่อสร้าง

  • มีความเสี่ยงต่ำ แม้ปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดสูงถึง 7.6 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทในกลุ่มมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจดี ทุกบริษัทมีเครดิตเรตติ้งสูง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย - SCC(A), บมจ.ปูนซิเมนต์นครหลวง - SCCC(A) และ บมจ.ทีพีไอ โพลีน -TPIPL (A-)

*กลุ่มมีเดีย

  • มีความเสี่ยงต่ำ ไม่มีหุ้นกู้ครบกำหนดในปีนี้ และบริษัทในกลุ่มที่ฝ่ายวิจัยวิเคราะห์มีฐานะการเงินค่อนข้างดี

*กลุ่มบรรจุภัณฑ์

  • มีความเสี่ยงต่ำ โดยบริษัทในกลุ่มที่ฝ่ายวิจัยวิเคราะห์คือ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) มีฐานะการเงินดี และมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง

*กลุ่มขนส่ง

  • มีความเสี่ยงต่ำ บริษัทที่ออกหุ้นกู้อยู่ในธุรกิจขนส่งมวลชนอย่าง บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) มีเครดิตเรตติ้งสูง และมีกระแสเงินสดเข้ามาสม่ำเสมอ มีอายุหุ้นกู้ยาว และกระจายตัวครบกำหนดในแต่ละปี ไม่กระจุกตัวในปีใดปีหนึ่งเป็นพิเศษ

*กลุ่มการแพทย์

  • ไม่มี concern ที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากมีเพียง BDMS ตัวเดียวที่ออกหุ้นกู้ โดยครบกำหนดชำระจำนวน 1.5 พันล้านบาทในปี 2567 จากมูลค่ารวม 6 พันล้านบาท ซึ่งมีกระกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพียงพอในการ service debt.Interest coverage ในงวด 9 เดือนปี 66 มากกว่า 40.3 เท่า

*กลุ่มพลังงาน

  • โดยภาพรวมมีความเสี่ยงต่ำ แม้ปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดสูงถึง 6.0 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทในกลุ่มมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจดี เกือบทุกบริษัทมีเครดิตเรตติ้งสูง บมจ.ปตท.-PTT (AAA), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม -PTTEP (AAA) มีเพียงบมจ.บ้านปู BANPU ที่มีหนี้รวมค่อนข้างสูงรวมกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท แต่ยังได้รับเครดิตเรทติ้งในระดับที่ดี A+ อาจจะต้องมีการติดตามใกล้ชิด

*กลุ่มโรงไฟฟ้า

  • โดยภาพรวมมีความเสี่ยงต่ำ แม้ปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดถึง 4.1 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทในกลุ่มมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และมีปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจดี รวมถึงลักษณะธุรกิจจะเป็นการกู้ยืมในสัดส่วนสูง D/E ราว 3:1 ของแต่โครงการโรงไฟฟ้า จึงทำให้มูลหนี้ค่อนข้างสูง อันดับเครดิตเรทติ้งอยู่ในกรอบ AA+ ถึง BBB

*กลุ่มเกษตรและอาหาร

  • บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป(TU) มีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีเครดิตเรตติ้งสูงระดับ A+ นอกจากนี้หุ้นกู้มีอายุยาว กระจายตัวครบกำหนดในแต่ละปี โดยปีนี้ครบ 2.8 หมื่นล้านบาท (คิดเป็น 12% ของหุ้นกู้ทั้งหมด)

*กลุ่ม ICT ที่ฝ่ายวิจัยศึกษาและมีการออกหุ้นกู้ คือ ที่ออกหุ้นกู้คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE), และ บมจ.เจ มาร์ท (JMART) โดยมีมูลค่าคงค้างอยู่รวมกันราว 2.2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ 1.8 แสนล้านบาท เป็นของ TRUE ซึ่งในปี 2567 นี้จะครบกำหนดราว 3.6 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทยังมีกระแสเงินสดในการดำเนินงานปีละราว 7 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงยังมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีกราว 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้จากเรตติ้งของบริษัทที่ A+ น่าจะช่วยให้สามารถกู้ยืมเพิ่มเพื่อมาชำระหุ้นกู้ที่ครบกำหนดได้

*กลุ่มพาณิชย์ : ที่ฝ่ายวิจัยศึกษาและมีการออกหุ้นกู้ คือ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ,บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) , บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL), บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT), บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) และ บมจ.ดูโฮม (DOHOME) มีมูลค่าหุ้นกู้คงค้างรวมกัน 3.5 แสนล้านบาท

บริษัทที่มีหุ้นกู้ในมูลค่ามากสุดคือ CPALL ที่ 2.2 แสนล้านบาท (ไม่รวม Perpetual bond 1 หมื่นล้านบาท) รองลงไปเป็น BJC ที่ 8.9 หมี่นล้านบาท โดยในปี 2567 มีหุ้นกู้ของ CPALL, BJC และ HMPRO ที่จะครบกำหนด 2.9 หมื่นล้านบาท, 2.3 หมื่นล้านบาท และ 4 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าทุกบริษัทจะไม่มีปัญหา จากฐานะการเงินที่ยังแข็งแกร่ง และเรตติ้งของบริษัทในระดับ A+ (CPALL), A (BJC) และ A- (HMPRO) ที่จะสนับสนุนให้ยังสามารถก่อหนี้เพิ่มได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ