นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. [PTT] กล่าวในงานสัมมนา "DECODE 2025 ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย" ว่า ทิศทางพลังงานของโลกและไทยในอนาคต ต้องสร้างสมดุลใน 3 เรื่อง คือ ความมั่นคงทางพลังงาน ความยั่งยืน และการเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม โดยมองว่าใน 20-30 ปีข้างหน้า ก๊าซธรรมชาติยังยังเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลกและไทย
แม้ว่าปัจจุบันพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) จะมีบทบาทมากขึ้น จากแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อย่างไรก็ตามในอนาคตข้างหน้า คาดว่าในปี 93 สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของโลกอาจยังมีไม่ถึง 20% จากปี 66 อยู่ที่ 6% เนื่องจากข้อจำกัด อาทิ พลังงานโซลาร์ ต้องมีแสงแดดสม่ำเสมอ หรือพลังงานน้ำ ซึ่งต้องมีภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยให้สามารถใช้พลังงานได้อย่างสะดวก ขณะเดียวกันพลังงานจากถ่านหิน ฟอสซิล จะมีการใช้ลดลง เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด สำหรับน้ำมัน แม้ปริมาณการใช้อาจลดลงแต่ไม่มาก
แต่ที่สำคัญคือก๊าซธรรมชาติของโลก มีสัดส่วนการใช้อยู่ที่ 24% ในปี 66 และจะเพิ่มเป็น 28% ในปี 93 เนื่องจากยังมีปริมาณให้ใช้ได้มาก และในบรรดาไฮโดรคาร์บอนหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล ถือว่าเป็นพลังงานสะอาดที่สุด ก๊าซธรรมชาติจึงถูกจัดเป็น "Destination Fuel" สำหรับโลกในอนาคต และตอบโจทย์ทั้ง 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ มีความมั่นคง ราคาพอเหมาะ และที่สำคัญต้องทำควบคู่ไปกับลดก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization)
สำหรับประเทศไทย มีแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีปริมาณครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ในประเทศ มีต้นทุนที่ถูกที่สุด และยังมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา 15% และส่วนที่เหลือ 30% เป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) จากแหล่งอื่นที่มีราคาผันผวนกว่าก๊าซในประเทศ ซึ่งในช่วงสงครามยูเครน-รัสเซียราคา LNG พุ่งสูง 5-10 เท่า ส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานมาก จึงต้องมีการส่งเสริมการสำรวจและผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ ๆ ในอ่าวไทย เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้า LNG และเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ แม้ว่าการสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ อาจมีต้นทุนสูงกว่าแหล่งขนาดใหญ่ในต่างประเทศ แต่ยังคุ้มค่ากว่าการนำเข้า LNG ที่มีราคาสูงและผันผวน
อย่างไรก็ตาม ไทยต้องให้ความสำคัญกับก๊าซธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ซึ่งไม่เพียงเพราะเกี่ยวข้องกับสภาวะโลกแล้ว แต่ยังเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ที่หลายประเทศ เช่น ยุโรป เริ่มใช้มาตรการทางภาษีและข้อกำหนดด้านการปล่อยคาร์บอน เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า
นอกจากนั้น เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำ และจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่สามารถดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาล หรือประมาณ 10 ล้านตันต่อปี โดยเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่และมีการนำมาใช้ในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยการพัฒนา CCS ต้องใช้เวลาประมาณ 5-7 ปี และยังขาดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันผลักดัน
"ทุกคนต้องร่วมมือกันที่จะทำกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจแหล่งใหม่ๆ การทำเรื่องคาร์บอน capture ที่สำคัญคือต้องประหยัดพลังงาน จะเห็นว่าเรานำเข้าพลังงานเยอะ จึงต้องประหยัด ซึ่งต้องลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน โดยเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้"นายคงกระพัน กล่าว