SAV เร่งเจรจาสัมปทานวิทยุการบินในสปป.ลาว ชี้เที่ยวบินสูงกว่ากัมพูชา 2-3 เท่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 22, 2024 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาธุรกิจสัมปทานวิทยุการบินในประเทศ สปป. ลาว เนื่องจากธุรกิจการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศในประเทศ สปป. ลาว มีศักยภาพสูง มีจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด มากกว่าจำนวนเที่ยวบินในกัมพูชาถึง 2-3 เท่าตัว และมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปริมาณเที่ยวบินที่บินผ่านมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น

โดยที่ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 23 ล้านคนและจำนวนเที่ยวบินจากประเทศจีนคาดว่าจะกลับมาอย่างมีนัยยะ ที่สำคัญบริษัทกำลังดำเนินการจัดตั้งบริษัท ลาว สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด

นายธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ SAV เปิดเผยว่าปี 2567 บริษัทคาดว่า อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเที่ยวบินมาประเทศไทยและเวียดนามจะยังคงมีการขยายตัวอยู่ซึ่งจะทำให้ปริมาณเที่ยวบินผ่านกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 22% - 25% ทำให้รายได้ของ SAV เติบโตในอัตราใกล้เคียงกัน ขณะเดียวกัน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมายังกัมพูชาจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้รายได้จากเครื่องบินขึ้นลงจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ส่วนผลการดำเนินงานประจำปี 2566 ว่าบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,647.8 ล้านบาท เติบโตขึ้น 35.1% หรือ 427.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยบริษัทมีรายได้จากการบริการตามสัญญาสัมปทาน จำนวน 1,501.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 415.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตร้อยละ 38.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นตามจำนวนเที่ยวบินทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นเป็น 92,685 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 35.5% หรือ 24,295 เที่ยวบินจากปี 2565

โดยแบ่งรายได้การบริการออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่

  • รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight) จำนวน 998.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.4% ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้หลัก เนื่องจากกัมพูชาอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ดี ทำให้เที่ยวบินที่จะไปเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่สำคัญในอาเซียน เช่น ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ต้องบินผ่านน่านฟ้ากัมพูชา
  • รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ (Landing & Take-off: International) จำนวน 490.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75.4% เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะหลังหมดสถานการณ์โควิด-19
  • รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงในประเทศ (Landing & Take-off: Domestic) จำนวน 11.6% เพิ่มขึ้น 15.9%

ในงวดปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 271.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72 ล้านบาท เติบโตขึ้น 36.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากรายได้จากการบริการเติบโตขึ้น และมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด อนึ่งบริษัทฯมีค่าใช้จ่ายการตัดจำหน่ายภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 88.5 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ มีการรับเงินปันผลจากบริษัทแคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด ("CATS") จำนวน 25.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในไตรมาส4/66 นั้นมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ จำนวน1.15 ล้านเหรียญ หรือจำนวน 41 ล้านบาท ทั้งนี้ อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายของประเทศกัมพูชาเท่ากับร้อยละ 14.00 แต่เนื่องจากประเทศไทยและประเทศกัมพูชามีอนุสัญญาภาษีซ้อน ซึ่งกำหนดให้มีการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เท่ากับ ร้อยละ 10.00 ของจำนวนเงินปันผล

ทั้งนี้บริษัทมีแผนที่จะจ่ายเงินปันผลจากบริษัท CATS มาที่ SAV ทุกๆไตรมาส เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้คงที่ในทุกๆไตรมาส อีกทั้งบริษัทมีรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 9.0 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียว เนื่องจากบริษัทนำเงินที่ได้รับเงินจากการขายหุ้น IPO ซึ่งเป็นสกุลเงินบาทไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวให้แก่สถาบันการเงินซึ่งเป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐรวมจำนวน 1,169.8 ล้านบาท โดยบริษัทจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมดังกล่าวทั้งจำนวนแล้ว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 และยังจ่ายชำระคืนกู้ยืมระยะสั้นจากกิจการที่เกี่ยวข้องกันจำนวน 258.7 ล้านบาท จึงทำให้ปัจจุบัน SAV เป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้สินทางการเงินและไม่มีภาระดอกเบี้ย และ มีศักยภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในปี 2566 จำนวน 480 ล้านบาท

สำหรับนโยบายการจ่ายปันผล ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมตินำเสนอแก่ที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณางดการจ่ายเงินปันผลประจำไตรมาสที่ 4/66 โดยจะมีแผนเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเงินไปลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจใหม่ และนำไปต่อยอดในธุรกิจเดิมที่มีอยู่ แต่จะมีการนำเสนอแก่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาการจ่ายเงินปันผลในรอบถัดไปแทน

ปัจจุบัน SAV ได้มีการถือสัดส่วน 100% ในบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด ("CATS") ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่ประกอบธุรกิจดำเนินการจัดตั้งระบบและให้บริการควบคุมการจราจรในกัมพูชา โดยมีสัมปทานยาวนานกว่า 49 ปี มีความมั่นคงทางธุรกิจสูง และอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางอากาศซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ