BA ปักหมุดปี 67 รายได้รวมโตทะลุ 10% แตะ 1.8 หมื่นลบ.ยอดผู้โดยสารเพิ่ม 15% สงกรานต์คึกคักยาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 29, 2024 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายการดำเนินงานของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในปี 67 รายได้รวมโตกว่า 10%จากปีก่อนอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ตามยอดผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นรับอานิสงส์การเดินทางและการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

BA คาดการณ์จำนวนเที่ยวบินในปีนี้ 48,000 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 85% จำนวนผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน เติบโตจาก 3.9 ล้านคนในปี 66 อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ในระดับ 79% และรายได้ผู้โดยสาร (Passenger Revenue) 17,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบินประมาณ 3,900 บาทต่อที่นั่ง

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า แนวโน้มการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในต้นปี 67 จนถึงไตรมาส 2/67 พบว่าเติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 66 ประมาณ 14% โดยมีสัดส่วนตามกลุ่มเส้นทาง ได้แก่ กลุ่มเส้นทางสมุย 63% กลุ่มเส้นทางภายในประเทศ 28% กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV 8% และเส้นทางต่างประเทศ 1%

ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินโลกและการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) สรุปรายได้สายการบินทั่วโลกปี 66 อยู่ที่ 107% ของปี 62 ก่อนสถานการณ์โควิด และคาดว่าในระดับอุตสาหกรรมการบินโลกและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะฟื้นกลับมาในปี 67 ถือเป็นภูมิภาคที่มีการคาดการณ์อัตราการเติบโตสูงสุด ประเมินจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 2,536 ล้านคนจากปี 67-83

สำหรับประเทศไทย จากสถิติผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินในประเทศทั้งหมดในปี 66 กลับมาอยู่ที่ 74% ของปี 62 โดยการเดินทางภายในประเทศอยู่ที่ 80% และการเดินทางระหว่างประเทศอยู่ที่ 68% ของปี 62 ปัจจัยสำคัญคือแรงผลักดันจากภาครัฐบาล อาทิ การยกเว้นวีซ่าให้กับบางสัญชาติ การส่งเสริมการเที่ยวเมืองรอง การท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมเพื่อกระตุ้นและดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มในไทย เป็นต้น

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทยังขายตั๋วโดยสารอยู่ในกรอบทางบนของเพดานราคาที่ 13 บาท/กม. (สำหรับสายการบิน Full service) ขณะที่ภาครัฐต้องการให้สายการบินปรับราคาลง โดยความเป็นจริงแล้วต้นทุนสูงขึ้นหลังกลับมาบิน อาทิ ราคาน้ำมัน ค่าจ้าง ค่าอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุง อีกทั้งดีมานด์การเดินทางยังมีมากกว่าซัพพลาย จึงต้องเป็นไปตามกลไกตลาด

ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สให้บริการเที่ยวบินสู่ 20 จุดหมาย ประกอบด้วย ในประเทศ 12 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) เกาะสมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ตราด ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย หาดใหญ่ อู่ตะเภา ส่วนต่างประเทศ 8 แห่ง ได้แก่ มัลดีฟส์ สิงคโปร์ เสียมเรียบ พนมเปญ หลวงพระบาง ฮ่องกง เฉิงตู ฉงชิ่ง

ทั้งนี้ เส้นทางบิน "สมุย-ฉงชิ่ง" และ "สมุย-เฉิงตู" เป็นเส้นทางบินที่กลับมาเปิดให้บริการล่าสุดในช่วงปลายเดือน ม.ค.67 เฉลี่ย 2-3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน

บางกอกแอร์เวย์ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน โดยปัจจุบันมีสายการบินพันธมิตร (Codeshare Partners) รวม 28 สายการบิน และมีสายการบินข้อตกลงร่วม (Interline Partners) กว่า 70 สายการบิน ปีนี้มีแผนทำข้อตกลงความร่วมมือกับสายการบินเพิ่มเติมอีก 2 สายการบิน เป็น 30 สายการบิน เพื่อส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายเส้นทางบิน และอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร รวมทั้งรองรับอุปสงค์การเดินทางระหว่างประเทศ พร้อมให้ความสำคัญต่อการดำเนินกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการฝูงบินอย่างมีประสิทธิภาพ

ปี 67 บริษัทคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเครื่องบินรวมทั้งสิ้นรวม 25 ลำในฝูงบิน โดยรีบมอบเครื่องบินใหม่เป็น A319 จำนวน่ 2 ลำในไตรมาส 3-4 ปีนี้

นอกจากนี้ เพื่อกระตุ้นการเดินทางทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศ บริษัทยังได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการขายโดยมีไฮไลท์โปรโมชั่นที่น่าสนใจซึ่งสามารถติดตามโปรโมชั่นพิเศษได้ตลอดทั้งและมีแผนการปรับโฉมเว็บไซต์การจำหน่ายบัตรโดยสารของบางกอกแอร์เวย์ส เพื่อรองรับการหาข้อมูลและการสำรองที่นั่งผ่านอุปกรณ์มือถือ โดยจะเริ่มเปิดใช้งานช่วงกลางปี 67

ด้านนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี BA กล่าวว่า หนึ่งในโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัทในปีนี้ การดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนเที่ยวบิน ได้แก่ บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (BAC) จากปี 66 มีจำนวนลูกค้าสายการบิน 23 ราย รายได้ในระดับ 81% ของปี 62 และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) จำนวนลูกค้าสายการบินทั้งหมด 90 ราย รายได้อยู่ในระดับ 93% จากปี 62 ในขณะที่บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์ไก้ จำกัด (BFS Cargo) มีลูกค้าสายการบิน รวม 86 สายการบิน

นางสาวอมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขายและรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด BA กล่าวว่า ในปีนี้บางกอกแอร์เวย์สวางสัดส่วนของช่องทางการขาย เป็นทางเว็บไซต์ 30% และช่องทางอื่นๆ 70 % (BSP Agent, Online Travel Agent, Call Center, Etc.) ซึ่งจะมาจากต่างประเทศ 57% โดยวางแผนขยายการขายเชิงรุกสำหรับตลาดต่างประเทศด้วยการขยายผ่านตัวแทนการขาย (GSA ) อีก 2 แห่งครอบคลุมโอกาสการขยายกลุ่มตลาดใหม่ อาทิ เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ซาอุดิอารเบีย ละตินอเมริกา และตุรกี ปัจจุบันมี GSA รวมทั้งสิ้น 26 สำนักงานทั่วโลก

ตลาดหลักของ BA เป็นยุโรป 40% รองลงมาเป็นไทยแลอาเซียน 31.5% เอเชียเหนือ(จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) 10% อเมริกาและแคนดานา 6.8% ออสเตรเลีย 4.5% เอเชียใต้ 4.8% ตะวันออกกลาง 2.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ