อินสไปร์ ไอวีเอฟ ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 130 ล้านหุ้น เข้า mai ใช้ขยายสาขา-ลงทุนธุรกิจเกี่ยวข้อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 8, 2024 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อินสไปร์ ไอวีเอฟ ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 130 ล้านหุ้น เข้า mai ใช้ขยายสาขา-ลงทุนธุรกิจเกี่ยวข้อง

บมจ.อินสไปร์ ไอวีเอฟ (IVF) ผู้ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ครบวงจร ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 130 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 29.55% ภายหลังจากการเสนอขาย IPO เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

บริษัทมีจุดมุ่งหมายในการระดมเงินทุนหลังหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ขยายสาขา ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยมี บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

น.ส.เกศิณี กุลดิลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IVF เปิดเผยว่า บริษัทก่อตั้งและให้บริการมาแล้วกว่าครึ่งทศวรรษ ภายใต้วิสัยทัศน์ของคณะผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ การเงินการลงทุน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โดยมุ่งเน้นการให้บริการภายใต้มาตรฐานระดับสากล พร้อมมอบคำปรึกษาในการวางแผนครอบครัวให้สมบูรณ์แก่ผู้รับบริการ ด้วยบุคลากรและทีมแพทย์มากประสบการณ์ ตลอดจนอุปกรณ์ เครื่องมือ และห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย

บริษัทเป็นที่แรกของกลุ่มธุรกิจศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน AACI และ ISO9001 ซึ่ง AACI เป็นมาตรฐานสากลเดียวในปัจจุบันที่สามารถรับรองได้ทั้ง International Healthcare Standard และ ISO9001 พร้อมกัน และโปรแกรมเฉพาะ COVID-19 สำหรับ Medical Travel เราเป็นกลุ่มธุรกิจศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากแห่งที่สองของโลกที่ได้รับการรับรองจาก Global Healthcare Accreditation ซึ่งแสดงถึงระบบบริหารจัดการคุณภาพบริการสุขภาพภายใต้มาตรฐานระดับสากล

"อินสไปร์ ไอวีเอฟ ดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาคุณภาพบริการและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564-2566 บริษัทฯ มีอัตราความสำเร็จของการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 70-76% ซึ่งสูงกว่าอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์โดยรวมของประเทศไทยที่ 48.53% (ข้อมูลจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข 1 มีนาคม 2567)

บริษัทยังให้ความสำคัญกับการออกแบบประสบการณ์ลูกค้าให้ครอบคลุมทุกแง่มุมงานบริการ ภายใต้แนวคิด "Luxury and Relax" มุ่งเน้นให้ผู้บริโภคจดจำ Inspire IVF ในฐานะศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากที่พร้อมให้บริการที่มีคุณภาพ คุ้มค่า และครบวงจรด้วยมาตรฐานสากล โดยแผนการเสนอขาย IPO ของบริษัทฯ ในครั้งนี้นับเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ รวมทั้งขยายพื้นที่ให้บริการทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านการลงทุนและร่วมลงทุนกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ ซึ่งสอดรับกับแนวโน้มอุตสาหกรรมบริการเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่สดใส" น.ส.เกศิณี กล่าว

ในปี 2566 อินสไปร์ ไอวีเอฟ มีรายได้รวม 122.09 ล้านบาท จากบริการในสองกลุ่มสำคัญ ได้แก่

1. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก สร้างรายได้ 107.9 ล้านบาท คิดเป็น 88.37% ของรายได้รวมทั้งหมด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ

1.1 การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธีการ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) ประกอบด้วยการให้บริการกระตุ้นไข่ เก็บไข่ บริการปฏิสนธิ (ICSI) บริการเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะ Blastocyst แช่แข็งตัวอ่อนและบริการย้ายตัวอ่อน

1.2 การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การตรวจพันธุกรรม การให้บริการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI) การเก็บอสุจิจากอัณฑะโดยตรง เป็นต้น

2. การให้บริการเวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-Aging) ที่ได้เริ่มให้บริการในปี พ.ศ.2566 ด้วยวิสัยทัศน์ที่อยากผลักดันอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ของผู้รับบริการเพิ่มขึ้น โดยการใช้เวชศาสตร์ชะลอวัยมาช่วยสนับสนุนการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และต่อมาจึงได้ขยายขอบเขตการให้บริการสู่คนในครอบครัวและบุคคลทั่วไป โดยสามารถสร้างรายได้ 13.64 ล้านบาท คิดเป็น 11.18%

นอกจากนั้น ยังมีรายได้อื่น ๆ อีก 5.5 แสนบาท คิดเป็น 0.45%

โดยมีการเติบโตกว่า 88.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีรายได้ 64.84 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่นำบริการเวชศาสตร์ชะลอวัยมาช่วยเสริมในการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก รวมถึงการที่ลูกค้านิยมใช้การตรวจแบบ PGT-SR แทน PGT-A เนื่องจากสามารถตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมได้มากกว่าสำหรับการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธีอื่น ๆ

โครงสร้างผู้ถือหุ้นหลัก ณ วันที่ 31 มี.ค.2567 กลุ่มนายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ถือหุ้นในสัดส่วน 63.80% หลัง IPO จะลดเหลือ 44.95% นายพุฒิพงศ์ ภูมิสุวรรณ 16.90% จะลดเหลือ 11.91%

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลโดยจะพิจารณาตามความสามารถในการทำไรแต่ละปี ไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินทุนสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองอื่นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ