TSTE ศึกษาธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม-เล็งย้ายหมวดเทรด,รายได้ปี 51 โต 50%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 4, 2008 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล(TSTE)อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ธุรกิจใหม่ด้านโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม คาดใช้เงินลงทุนไม่เกินพันล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนมาจากเพิ่มทุนและทุนหมุนเวียน คาดหากประชุมบอร์ดปลายเดือนนี้อนุมัติจะเตรียมส่งต่อให้ผู้ถือหุ้นพิจารณา ถ้าไม่มีเหตุสะดุดน่าจะสร้างโรงงานแล้วเสร็จปลายปี 52 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 53 
พร้อมเล็งย้ายหมวดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จากกลุ่มบริการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หลังธุรกิจโรงงานแป้งสาลีมีรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า และในอนาคตก็จะมีธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเข้ามาเสริมด้วย คาดรายได้ปี 51 เติบโต 50% จาก 475.17 ล้านบาทในปี 50 หลังผ่านครึ่งปีแรกรายได้รวมและกำไรสุทธิพุ่งสูงเกินกว่ารายได้ปีที่แล้วทั้งปี คาดการเมืองวุ่นกระทบไปถึงท่าเรือรัฐเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกย้ายมาใช้ท่าเทียบเรือเอกชนแทน
ส่วนแผนเพิ่มทุน 180 ล้านหุ้นขายผู้ถือเดิม 120 ล้านหุ้น อัตรา 1:1 และรองรับการออกวอแรนต์ 60 ล้านหน่วย อัตราการใช้สิทธิ 4:1 นั้น เชื่อผู้ถือหุ้นแห่ใช้สิทธิครบทั้งจำนวนไม่เหลือไปถึงมือนักลงทุนเฉพาะเจาะจงแน่นอน
*คาดเสนอผลศึกษาตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มเข้าบอร์ดปลายเดือนนี้
นายชลัช ชินธรรมมิตร กรรมการ TSTE เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมีแผนจะนำเงินจากการเพิ่มทุนราว 200 ล้านบาทไปลดหนี้และใช้ขยายธุรกิจใหม่ ซึ่งกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปาล์มซึ่งถือเป็นธุรกิจต่อเนื่องจากปัจจุบันที่มีธุรกิจโรงงานแป้งสาลีแล้ว
"บอร์ดขอรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาในปลายเดือนนี้ว่า Project นี้น่าทำหรือไม่ แต่ถ้าทำจริงๆ ก็คงจะใช้เงินลงทุนไม่เกินพันล้านบาท คงจะใช้เงินจากการระดมทุน เงินทุนหมุนเวียนจากการดำเนินกิจการ"นายชลัช กล่าว
ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันปาล์มจะมี 2 ส่วน คือผลิตสำหรับบริโภคและใช้เป็นพลังงานทดแทน คาดว่าจะใช้พื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ก่อสร้างโรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่รวม 100 ไร่ เป็นทั้งคลังสินค้า โรงงานแป้งสาลี และท่าเทียบเรือ โดยโรงกลั่นน้ำมันปาล์มจะใช้โกดังเก่าเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่มาปรับปรุง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มผลิตประมาณปลายปี 52 และเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 53 เป็นต้นไป โดยช่วงแรกจะรองรับลูกค้าในประเทศเป็นหลัก
นายชลัช กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาย้ายจากหมวดขนส่งไปเทรดในหมวดอื่นของตลาดหลักทรัพย์ หลังจากรายได้จากธุรกิจโรงแป้งสาลีทำท่าว่าจะสร้างรายได้มากกว่าธุรกิจด้านท่าเทียบเรือและการขนส่งสินค้าผ่านท่า รวมทั้งบริการขนถ่ายสินค้าขึ้นเรือเดินสมุทร
"อีกหน่อยไทยชูการ์ฯ อาจจะไม่อยู่ในหมวดขนส่งท่าเรือก็ได้ เพราะรายรับปัจจุบันมาจากแป้งสาลีซะเยอะ อีกหน่อยถ้ามีน้ำมันปาล์มด้วยก็ไม่รู้จะไปอยู่หมวดไหน ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ด้วยที่กำหนดให้ต้องผลการดำเนินงาน รายรับจากธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากกว่า 50-60% เป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ต้องให้แน่ใจจริงๆก่อนว่าธุรกิจจะเดินมาทางนี้จริงๆไม่ใช่ยังเป็นขนส่ง"นายชลัช กล่าว
นายชลัช กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้ของธุรกิจโรงแป้งสาลีและธุรกิจขนส่งทางเรือใกล้เคียงกัน
"ตอนนี้สัดส่วนรายได้เรามี 3 ส่วน ท่าเรือ โกดัง แป้งสาลี เผลอๆ รายได้จากการขายแป้งสาลีให้กับผู้ผลิตบะหมี่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปังน่าจะถึง 60% แล้วด้วยซ้ำ อย่างน้อยการเติบโตทางด้านธุรกิจแป้งก็สูงอยู่แล้ว ถ้ามีธุรกิจใหม่ก็ยิ่งเพิ่มรายได้จากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ท่าเรือและขนส่งมากขึ้น"นายชลัช กล่าว
*คาดรายได้โตต่อเนื่องตั้งแต่ปีนี้ที่คาดเติบโตถึง 50%
นายชลัช คาดว่า รายได้รวมของ TSTE ในปีนี้น่าจะเติบโตก้าวกระโดดจากปี 50 อัตราเติบโตของรายได้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 50% จากปี 50 ที่มีรายได้รวม 475.17 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 39 ล้านบาท เนื่องจากครึ่งปีแรกของปี 51 รายได้และกำไรสุทธิดีกว่างปี 50 ทั้งปีแล้ว
"แค่ครึ่งปีแรกเราโตแล้ว 40% ดังนั้นปีนี้น่าจะโต 50%"นายชลัช กล่าว
งวด 30 มิ.ย.51 TSTE มีรายได้รวม 669.61 ล้านบาท กำไรสุทธิ 68.39 ล้านบาท
ปัจจัยที่ทำให้รายได้ในปีนี้เติบโตได้ดี เนื่องจากได้รับผลบวกราคาแป้งสาลีและราคาน้ำตาลที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด ขณะที่ในด้านต้นทุนการผลิตบริษัทโชคดีที่ล็อคราคาซื้อข้าวสาลีกับซัพพลายเออร์จากต่างประเทศได้ถูกเวลา โดยรอบการทำสัญญาครั้งหนึ่งจะนานประมาณ 3-4 เดือน รวมทั้งล็อคอัตราแลกเปลี่ยนและราคาขายเพื่อป้องกันความเสี่ยง ประกอบกับธุรกิจโกดังและค่าขนถ่ายสินค้ายังทำรายได้สม่ำเสมอ
นายชลัช กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาราคาข้าวสาลีปรับตัวขึ้นมาตลอดเหมือนสินค้า Commodity เพิ่งจะ Drop ลงมาเล็กน้อยในระยะนี้ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้สถานการณ์ราคาน่าจะเริ่มทรงตัวแล้ว เพราะราคาสินค้า Commodity ผันผวนขึ้นอยู่กับการเก็งกำไรด้วย ถ้าการเก็งกำไรถดถอย ความผันผวนของราคาก็น่าจะลดลง
ส่วนเรื่องสถานการณ์เมืองในขณะนี้ มองว่าน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจท่าเทียบเรือของเอกชน เพราะถ้าสถานการณ์ยังวุ่นวายหรือเลวร้ายจนถึงขั้นมีการปิดท่าเรือคลองเตย ผู้ส่งออกก็ต้องวิ่งหาท่าเรือเอกชน แต่โดยภาพรวมอาจจะทำให้มุมมองของประเทศไทยในสายตาต่างชาติแย่ลงไป เพราะกระทบในภาคธุรกิจมากขึ้น
*เพิ่มทุน 180 ล้านหุ้น คาดผู้ถือหุ้นใช้สิทธิครบทั้งจำนวน
นายชลัช กล่าวถึงแผนเพิ่มทุน 180 ล้านหุ้นว่า คาดว่าจะมีผู้ถือหุ้นมาใช้สิทธิ์ครบทั้งจำนวนทั้ง 2 ส่วน คาดว่ากระบวนการเพิ่มทุนน่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพราะปลายเดือน ก.ย.นี้จะกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้น คาดว่าคงจะประชุมผู้ถือหุ้นประมาณเดือน ต.ค.
"ดูแล้วไม่น่ามีเหตุผลที่ผู้ถือหุ้นเดิมจะไม่ใช้สิทธิ์ เพราะว่าการเพิ่มทุนก็เพิ่มราคาพาร์ มูลค่า Book Value ก็สูงกว่าตั้งเยอะ แล้วก็สิทธิในการใช้วอแรนต์ ผมว่าผู้ถือหุ้นเดิมค่อนข้างจะคุ้มทุน"นายชลัช กล่าว
เมื่อเร็วๆนี้ บอร์ด TSTE อนุมัติแผนเพิ่มทุน 180 ล้านหุ้น จัดสรร 120 ล้านหุ้นมูลค่าหุ้นละ 1 บาทเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม 1:1 ที่ราคาหุ้นละ 1 บาท และจัดสรร 60 ล้านหุ้นเพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 4:1
อย่างไรก็ตาม หากมีจำนวนหุ้นเหลือจากการขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมและวอแรนต์ เชื่อว่าจะมีนักลงทุนอีกหลายรายที่สนใจแน่นอน
"ถ้าผู้ถือหุ้นคนไหนไม่สะดวกที่จะเพิ่มผมเชื่อว่ามีนักลงทุนอีกหลายรายที่สนใจซึ่งก็คงเป็นกลุ่มเดิมที่ถืออยู่นี่แหละ คือถ้ากลุ่มไหนไม่พร้อมกลุ่มอื่นก็คงพร้อม ทางกลุ่มครอบครัว"ชินธรรมมิตร"ก็จะใช้สิทธิด้วยเช่นกัน"นายชลัช กล่าว
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ ณ วันที่ 10 เม.ย.51 ระบุ โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ TSTE 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL) จำนวน 28,581,600 หุ้น (23.82%), บริษัท ประจวบอุตสาหกรรม จำกัด จำนวน 10,847,673 หุ้น (9.04%) และ บริษัท มั่นคงสยามธุรกิจ จำกัด จำนวน 10,092,000 หุ้น (8.41%)
นอกจากนี้ ยังพบรายชื่อบุคคลในตระกูล"ชุติมาวรพันธ์"และตระกูล"ชินธรรมมิตร"ปรากฎอยู่ในโครงสร้างผู้ถือหุ้นด้วย โดยถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 16.12% และ 3.79% ตามลำดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ