(เพิ่มเติม) ตลท.ระบุไม่ใส่เงินเพิ่มทุน TSFC เปิดทางดึงพาร์ทเนอร์ใหม่เข้าร่วมทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 17, 2008 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการรอแผนฟื้นฟูของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ (TSFC) ว่าจะมีโครงสร้างแผนธุรกิจอย่างไร แต่จากการหารือกับผู้ถือหุ้นเดิมของ TSFC มีมากกว่า 2 รายที่พร้อมจะใส่เงินเพิ่มทุน ซึ่งมีทั้งธนาคารพาณิชย์ และ บริษัทหลักทรัพย์

"ในส่วนตลาดหลักทรัพย์ ในตอนนี้เรายังคงไม่ใส่เงินเพิ่มใน TSFC ที่ปัจจุบันเราถืออยู่ 5% เนื่องจากยังมีความเสี่ยงสูง ในเรื่องกระบวนการฟื้นฟู แต่หากมีการเพิ่มทุนรอบใหม่ก็คงจะพิจารณาอีกครั้ง ตามสัดส่วนที่จะเพิ่มขึ้น" ผู้จัดการ ตลท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตลท. อยากให้ TSFC มีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามากกว่า ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ TSFC ได้ดีกว่า และ ตลท.ก็ไม่ต้องการเป็นผุ้ถือหุ้นใหญ่

"หลังจากมีปัญหา เราก็ได้มีการพูดคุยกันเองในส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งเท่าที่คุยก็มีผู้ถือหุ้นเดิมที่อยากจะช่วยและเข้าไปลงทุนใน TSFC แต่ยังไม่ได้รับการ confirm เพราะว่าผู้ถือหุ้นก็อยากเห็นว่าแผนฟื้นฟูจะออกมาเป็นอย่างไร" นางภัทรียากล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท TSFC ตัดสินใจนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หลังจากที่บริษัทไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขการเพิ่มทุนเร่งด่วนตามที่ ก.ล.ต.กำหนด

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บล.ทรีนีตี้ กล่าวถึงกรณีของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์(TSFC) ในฐานะนายกสมาคมโบรกเกอร์ว่า ในส่วนของลูกหนี้ของ TSFC ที่มีการกู้ยืมเงินไปเพื่อซื้อหลักทรัพย์นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องโอนมาเป็นลูกหนี้ของโบรกเกอร์ เนื่องจากการปล่อยกู้ของ TSFC นั้นมีการวางหลักประกันที่สูงกว่ายอดหนี้ของลูกค้า ซึ่งลูกหนี้ของ TSFC สามารถที่จะขายหุ้นออกมาเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่ TSFC

ส่วนกรณีเจ้าหนี้นั้นจากการที่ TSFCจะมีการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการฯนั้นก็อาจต้องมีการเพิ่มทุนเพื่อเป็นการชำระหนี้แทน แต่อย่างไรก็ตามจะต้องรอดูแผนการดำเนินงานของ TSFC ก่อน ซึ่งขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะมีการตอบว่าควรที่จะต้องมีการฟื้น TSFC ขึ้นมาใหม่หรือไม่ แต่หากในธุรกิจหลักทรัพย์นั้นมี TSFC ในการปล่อยกู้ก็ถือว่าดีกว่าไม่มี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ