RAM แนวโน้ม Q1/52 แย่กว่า Q1/51,แต่รายได้เครือปีนี้สูงขึ้นแตะหมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 20, 2009 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง(RAM)เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/52 จะออกมาแย่กว่าไตรมาส 1/51 แน่ จากผลกระทบเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องจากปลายปีก่อน แต่ยังมีสัญญาณที่ดีจำนวนคนไข้ใหม่ยังทยอยเข้ามาต่อเนื่องทุกวันราว 15% ยึดกลยุทธตรึงค่ารักษา ยืนยันไม่มีแผนปรับลดพนักงาน แต่อาจลดรายจ่ายทำงานล่วงเวลา ส่วนในด้านการลงทุนยังเดินหน้า โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเครือ

"ปีนี้ผ่านมา 2 เดือนกว่าแล้วก็คงสู้ปีที่ผ่านมาไม่ได้ แต่มากน้อยยังไม่รู้ ตกตามเศรษฐกิจ รู้เลย ถึงแม้เราจะเน้นรักษาแต่คนไข้ในประเทศก็ต้องมีตกบ้าง ส่วนไตรมาส 2 จะดีขึ้นหรือเปล่า ปีนี้ทั้งปีจะดีกว่าปีที่แล้วหรือไม่แล้วแต่รัฐบาลว่าจะทำอะไรให้ประเทศชาติกลับมาดีได้ใหม่หรือไม่ ทำอะไรให้เงินในประเทศเพิ่มขึ้นหรือยัง ซึ่งเราหวังว่ารัฐบาลจะทำให้มีเงินเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินออกไป"นายแพทย์เอื้อชาติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

แม้ว่าผลประกอบการในงบเฉพาะ RAM ยังไม่แน่นอน แต่จากที่ได้ลงทุนในบริษัทย่อย บริษัทลูก บริษัทในเครืออีก 20 แห่งทำให้ยัเงเชื่อว่าปี 51 น่าจะมียอดรายได้ทั้งเครือแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท จากปี 51 ที่ทำรายได้กว่า 9.8 พันล้านบาท ซึ่ง RAM จะมีการรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้น

นอกจากนั้น ปัจจุบันมี ผู้ใช้บริการที่ RAM ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 1,800-2,000 คนในจำนวนนี้เป็นคนไข้ใหม่ประมาณ 15% ทำยอดขายเฉลี่ย 150 ล้านบาท/เดือน

นายแพทย์เอื้อชาติ กล่าวว่า ในด้านการลงทุนนั้น แม้ว่าปีนี้ RAM จะไม่มีการลงทุนโดยตรงใหม่ ๆ แต่จะมีการปรับปรุงกิจการทั้งของโรงพยาบาลรามคำแหงและโรงพยาบาลในเครือ โดยในส่วนของ RAM เองปัจจุบันมี 400 เตียง กำลังปิดปรับปรุงประมาณ 100 เตียง เพราะเปิดบริการมา 20 ปีแล้ว แต่คงไม่มีการเพิ่มจำนวนเตียง

นอกจากนี้ โรงพยาบาลสุขุมวิทใกล้กับวัดธาตุทอง ซึ่ง RAM ถือหุ้น 35% จะมีการปรับปรุงให้ทันสมัย และเพิ่มจำนวนเตียงเป็น 250 เตียง จาก 70 เตียงใช้เงินลงทุนรวม 1 พันล้านบาท ค่าเครื่องมืออีกต่างหาก โดยคาดว่าจะมาจากการกู้ประมาณ 800 ล้านบาท ที่เหลือเป็นทุนหมุนเวียนและเงินลงทุนจาก RAM ตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งคาดว่าอีก 4-5 เดือนน่าจะลงเสาเข็มได้ และถัดไปอีก 24-30 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ

ขณะเดียวกัน บริษัทลูก คือ โรงพยาบาวิภาราม ที่ RAM ถือหุ้นอยู่เกือบ 50% กำลังจะสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี มูลค่า 600 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เงินกู้ประมาณ 300 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินลงทุนจาก RAM และ AMATA จะร่วมกัน คาดว่าอีก 24 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ ตอนนี้อยู่ระหว่างยื่นขออนุมัติสิ่งแวดล้อม

"ที่สุขุมวิทและอมตะปีนี้คงได้ลงเสาเข็ม ลงเสาเข็มเมื่อไหร่ก็ลงทุนเมื่อนั้น ยังไงก็ลงเสาปีนี้ เพราะของเก่าใช้การไม่ได้แล้ว เขียนแปลนมา 2 ปีแล้ว"นายแพทย์เอื้อชาติ กล่าว

นายแพทย์เอื้อชาติ กล่าวว่า กลยุทธที่จะรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้นั้น บริษัทจะพยายามตรึงค่ารักษา โดยจะไม่มีการปรับขึ้นค่าบริการหรือค่ายาโดยเด็ดขาด และยืนยันว่าไม่มีแผนปรับลดจำนวนพนักงาน แต่อาจจะลดรายจ่ายบางส่วน โดยเฉพาะลดการทำงานล่วงเวลา

"แผนปีนี้ คือ ไม่เพิ่มรายจ่ายให้คนไข้ ไม่ให้คนไข้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 2.ทุกโรงพยาบาลต้องห้ามให้พนักงานออกไปเป็นภาระสังคม ลดการทำงานล่วงเวลา แต่ห้ามให้ออก"นายเอื้อชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงพยาบาลในปี 40 ได้รับผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจหนักมากกว่าปีนี้มาก เพราะตอนนั้นทุกโรงพยาบาลใช้เงินกู้เป็นสกุลดอลลาร์ เมื่อมีการลดค่าเงินจึงกระทบกับต้นเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นเท่าตัว

"ตอนนั้นทุกโรงพยาบาลกู้เงินต่างประเทศทั้งนั้น ภายใต้การแนะนำของแบงก์ประเทศไทย โดยเฉพาะแบงก์ของรัฐบาลไทยแนะนำให้กู้เงินดอลลาร์ ทำให้เงินต้นเพิ่ม 2 เท่า ดอกเบี้ยเพิ่ม 4 เท่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก แต่ปีนี้ค่าใช้จ่ายพยายามคุม ส่วนรายรับไม่รู้จะเข้ามาหรือเปล่า มันมีทางแก้ไขอย่างที่บอกไปแล้วตอนต้น"นายเอื้อชาติ กล่าว

และเพิ่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับเช็ค 2,000 บาทช่วยชาติ เรายินดีรับ โดยจะให้คุณค่าเท่ากับธนบัตรใบละ 1,000 บาท จำนวน 2 ใบ ส่วนโปรโมชั่นพิเศษมีให้กับคนไข้อย่างแน่นอน แต่คงต้องรอให้มีการแจกเช็คก่อน

"ใครมีเช็คช่วยชาติเอามาใช้ที่เราได้เลย ยินดีรับตามกติกา เราไม่ใช่ศูนย์การค้า ไม่ใช่มือถือ แต่เราก็ยืนดีร่วมมือ"นายเอื้อชาติ กล่าว

ส่วนกรณีที่ บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี(VIBHA)ที่ RAM ถือหุ้นอยู่จะเข้าเทคโอเวอร์ธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์"โครงการ ปริ๊นส์ตั้น พาร์ค สวีท"เนื่องจากคาดหวังว่าจะสร้างรายได้จากการจัดประชุมสัมมนาให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่ง RAM ก็จะได้รับผลดีไปด้วย

และในฐานะนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และดูแลโครงการ 30 บาทด้วย คาดว่าปีนี้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ 30 บาททั่วประเทศน่าจะเพิ่มอีก 4-5 แสนคน จาก 47 ล้านคนเมื่อตอนต้นปี 52 และคาดว่าปีนี้จะมีแพทย์จบใหม่ 1,200 คนที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มจำนวนบุคคลากรให้กับวงการแพทย์ไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ