METRO เผยไม่มีแผนล้มคอนโดฯ 2 แห่ง-ไม่คิดขายที่ดิน แม้เลื่อนไม่มีกำหนด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 3, 2009 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้(METRO)ยืนยันไม่คิดล้มโครงการคอนโดมิเนียม 2 แห่งที่ต้องชะลอออกไปไม่มีกำหนด และไม่ขายที่ดินทั้ง 2 ผืน โดยคาดทยอยคืนเงินลูกค้าได้ครบ 50-60 ล้านบาทภายใน 1-2 เดือนนี้ แต่ลูกค้าส่วนหนึ่งยังไม่อยากยกเลิกสัญญา ส่วนแผนออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์แม้ตอนนี้ยังไม่เหมาะ แต่จะมีการหยิบยกมาพิจารณาความเหมาะสมทุกไตรมาส

นายวีระ บูรพชัยศรี ประธานกรรมการบริหาร และ กรรมการผู้จัดการ METRO กล่าวว่า บริษัทยังไม่ยกกเลิกโครงการโครงการแล้ว คือ เมโทร อเวนิว รัชโยธิน และเมโทร อเวนิว สุขุมวิท 66 แต่ตัดสินใจหยุดการขายและการก่อสร้างโครงการอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากที่ผ่านมามีลูกค้าขอทยอยคืนและยกเลิกสัญญา เพราะไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีลูกค้าอีกส่วนหนึ่งไม่ต้องการยกเลิกสัญญา

ขณะที่บริษัทก็เสียจังหวะในการขอใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม เพราะโครงการชะลอออกมา 9 เดือนแล้ว จึงมีผลทำให้ขั้นตอนอื่น ๆ ล่าช้าไปด้วย และเหตุการณ์รอบด้านเปลี่ยนไปหมด ลูกค้าเองก็รู้สึกว่ามันนานเกินไปแล้ว ความต้องการก็เปลี่ยนไป ภาวะเศณษฐกิจก็เปลี่ยนไป ในแง่ของธนาคารเองก็เริ่มมีการปฏิเสธคำขอสินเชื่อ(Rejection)สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราเดินหน้าโครงการต่อไปก็จะเจอความเสี่ยงตรงนี้

"ที่ผ่านมามีจำนวนลูกค้าที่ซื้อไปแล้วมารบเร้าขอทยอยคืน ขอยกเลิกสัญญา และในแง่การขายใหม่ก็ไม่ได้ดีขึ้น เหตุผลที่ลูกค้าใช้ในการขอยกเลิก คือ ไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ...ลูกค้าเองก็คงได้สัญญาณแล้วก็ทยอยขอยกเลิกมาเรื่อยๆ เราเลยตัดสินใจรอก่อนดีกว่า รอให้สถานการณ์ดีขึ้น"นายวีระ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

*ใช้ 50-60 ลบ.ทยอยคืนเงินลูกค้า คาดคืนครบภายใน 1-2 เดือนนี้

นายวีระ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะหยุดการขายโครงการทั้ง 2 แห่งนั้น โครงการที่สุขุมวิท 66 ก็มียอดขายแล้วประมาณ 50% ก่อนจะหยุดไประยะหนึ่งเพื่อรอดูราคาค่าก่อสร้าง ราคาวัสดุ จากนั้นเมื่อเปิดขายอีกรอบในเดือน ส.ค.51 พบว่ายอดขายไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนเมโทร อเวนิว รัชโยธินเองยังทำยอดขายได้แค่ 30%

หลังจากตัดสินใจชะลอโครงการ บริษ็ทก็ได้ทยอยคืนเงินให้แก่ลูกค้า รวมเป็นเงินประมาณ 50-60 ล้านบาท ซึ่งคืนไปแล้ว 90% ส่วนที่เหลือคาดว่าภายใน 1-2 เดือนนับจากนี้น่าจะทยอยคืนได้ครบ

"ก็ยังมีลูกค้าบางส่วนที่เห็นว่าโครงการอยู่ในทำเลที่ดี ยังไม่อยากยกเลิกสัญญา ยังไม่ขอคืนเงิน แต่ขอชะลอจ่ายเงินค่างวด"นายวีระ กล่าว

แหล่งเงินจะมาจากกระแสเงินสดในมือ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 300 ล้านบาท และยังมีเงืนที่จะเข้ามาจากการโอน 2 โครงการ คือ โครงการเซ็นต์หลุยส์ แกรนด์เทอเรส คอนโดมีเนียม ดีไซน์รูปทรงเป็นเรือใบ ซึ่งปิดการขายไปแล้วคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้จนถึง Q3/52 และโครงการบ้านรวิภา สุขุมวิท 103 ซึ่งปัจจุบันขายได้แล้ว 75% และคาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะปิดโครงการได้

"สำหรับเราถือว่ายังอยู่ในสถานการณ์ที่ดี ตอนนี้สต็อกเหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท กระแสเงินสด ณ สิ้นปี 51 เราก็ยังเหลืออีก 300 ล้านบาท, อัตราหนี้สินต่อทุน D/E ตอนปลายปี 51 ก็ลดลงเหลือ 1.6 เท่า จาก 2.3 เท่าในปี 50 พอเราชะลอโครงการก็เหมือนเป็นแลนด์แบงก์"นายวีระ กล่าว

ส่วนที่แผนกู้เงิน 180 ล้านบาทจากบุคคลภายนอกนั้น นายวีระ กล่าวว่า เป็นการขออนุมัติคณะกรรมการเผื่อไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์ในอนาคตจะเลวร้ายลงอีกขนาดไหน สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาเศรษฐกิจลดลงอย่างรวดเร็ว

"เราเลือกกู้ เพราะการระดมทุนไม่ใช่ว่าจะทำได้อย่างรวดเร็ว การเพิ่มทุนก็เป็นภาระแก่ผู้ถือหุ้นใครๆก็ไม่ชอบ ส่วนบุคคลภายอนกที่ว่าเนี่ยยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร อาจจะเป็นการกู้จากในกลุ่มผู้ถือหุ้น หรือแม้กระทั่งผู้ถือหุ้นรายย่อยอยากนำเสนอให้กู้ระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไปก็ได้ คือถ้ามีแหล่งเงินที่อื่นจากบุคคลภายนอกใครก็แล้วแต่ หรือสถาบันการเงิน หรือใครที่เตรียมพร้อมไว้ เราก็ให้ครอบคลุมไว้ก่อน เมื่อไหร่ที่เราต้องการใช้เงินก็พร้อมให้เงินภายใน 7 วัน 10 วัน เพราะถึงเวลานั้นอาจจะเกิดปัญหาก็ได้ใครจะไปรู้"นายวีระ กล่าวว่า

เมื่อถามถึงโอกาสในการหาพันธมิตรเข้ามานั้น นายวีระ กล่าวว่า หากมีใครสนใจมาขอร่วมเป็นพันธมิตร นายวีระ กล่าวว่า ยินดีรับพิจารณาทั้งนั้น แต่มันจะทำให้ผู้ถือหุ้นเสียเปรียบ เสียผลประโยชน์ขนาดไหน

*ไม่รีบออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์ฯ ขอประเมินรายไตรมาส

นายวีระ ยังกล่าวถึงแผนเสนอขายกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่มีแผนจะเอาขายโครงการสาทร วิสต้า มูลค่า 2.3 พันล้านบาทเข้าเป็นสินทรัพย์ของกองทุนฯว่า คงต้องรอดูสถานการณ์เป็นรายไตรมาส เพราะบริษัทยังไม่รีบร้อนที่จะต้องดำเนินการในขณะนี้

"เราก็อยากออกกองทุนอสังหาฯ เพราะแค่โครงการนี้โครงการเดียวก็กลบหนี้ของบริษัท 1.6 พันล้านบาทได้หมด แต่มาคิดดูอีกที ถ้ารีบเอาเข้า เงินเหลือจะไปทำอะไรในภาวะแบบนี้ เพราะภาวะอย่างนี้มันไม่มีอะไรน่าลงทุนน่าสนใจ

สถานการณ์อย่างนี้เราไม่อยากเร่งรีบเร่งรัดทำอะไร เพราะจริงๆ ถ้าเทรนด์ดอกเบี้ยลงแบบนี้ยิ่งทำให้พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์เรามีค่ามากขึ้นด้วยซ้ำไปในแง่ของมูลค่า เพราะฉะนั้นเราอยากจะรอจนสถานการณ์ว่าแนวโน้มดอกเบี้ยถึงจุดต่ำสุดหรือยัง ความมั่นใจทุกอย่างกลับมาหรือยัง...คงต้องดูกันเป็นรายไตรมาส หรือไม่ก็ตอนปลายปี"นายวีระ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ