(เพิ่มเติม) SYRUS เป็นแกนควบรวม ACLS-FINANSA ดันมาร์เก็ตแชร์ 5% คาดปิดดีล มิ.ย.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 27, 2009 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.ไซรัส(SYRUS) บล.ฟินันซ่า(FINANSA) และ บล.สินเอเชีย(ACLS)ประกาศแผนควบรวมกิจการที่มี SYRUS เป็นแกนหลัก เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้ส่วนแบ่งตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ของกิจการใหม่อยู่ที่ 5% ขยับขึ้นเป็นอันดับ 4 ในวงการโบรกเกอร์

นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ SYRUS กล่าวว่า การควบรวมกิจการจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้มาร์เก็ตแชร์ธุรกิจหลักทรัพย์ของทั้ง 3 แห่งรวมกันอยู่ที่ประมาณ 5% และมีฐานบัญชีลูกค้ารวมกันเป็นจำนวน 18,000 บัญชี สาขารวมกัน 23 สาขา และยังได้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาในต่างจังหวัดและฐานลูกค้าเงินฝากของธนาคารสินเอเซีย(ACL)อีกด้วย

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการ SYRUS กล่าวว่า จากการควบรวมกิจการ 3 แห่งเข้าด้วยกันจะทำให้บริษัทใหม่ มีฐานรายย่อย 90% ส่วนนักลงทุนสถาบัน 10% เช่นเดียวกับฐานลูกค้าเดิมของ SYRUS ที่มีรายย่อย 90% และสถาบัน 10% ส่วนบล.ฟินันซ่า มีลูกค้าสาถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ราว 15-20% ขณะที่ บล.สินเอเชีย มีฐานลูกรายย่อยเกือบ 100% อย่างไรก็ตามจะพยายามเพิ่มสัดส่วนลูกค้าสถาบันตามแผนต่อไป

ดีลนี้ SYRUS ออกทุนจริงประมาณ 300-400 ล้านบาท โดยบริษัทจะเข้าซื้อสินทรัพย์และชำระคืนหนี้ Margin Loan รวมมูลค่า 160 ล้านบาท ในส่วนธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และธุรกิจการเป็นตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของบล.ฟินันซ่า ขณะเดียวกันบริษัทจะเข้าซื้อหุ้นบล.สินเอเซีย 86.65-100% ที่คาดใช้เงิน 460 ล้านบาท แต่ก็จะได้รับเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนสัดส่วน 24.9% ให้กับธ.สินเอเซีย จำนวน 250 ล้านบาท ในส่วนนี้ก็หักกลบไปจ่ายประมาณ 210 ล้านบาท ทั้งนี้แหล่งเงินมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

"ที่ให้ SYRUS เป็นแกนนำในการควบรวมกิจการครั้งนี้ เพราะ SYRUS เป็นบริษัทจดทะเบียน และเราจะเข้าไปทำธุรกิจ Brokerage ทั้งหมด จะให้บริการเต็มรูปแบบ ซึ่งโครงสร้างและกลยุทธ์ การดำเนินการก็จะประชุมหารือกันอีกครั้งหลังดีลจบ" นายสมภพ กล่าว

หลังการควบรวมจะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของธุรกิจลดลง โดยเฉพาะด้านไอที ที่ทั้ง 3 แห่งใช้ระบบเดียวกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุว่าจะลดพนักงานเท่าไร

นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บล.ฟินันซ่า กล่าวว่า หลังจากดีลควบรวมกิจการทั้ง 3 แห่งเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะเห็นประโยชน์ในแง่ผลประกอบการผลายปีนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ทั้งนี้ คาดว่า ในอนาคตบริษัทหลักทรัพย์จะลดลงเหลือต่ำกว่า 20 ราย จากที่มีอยู่ 41 ราย ซึ่งจากนี้ไปคงเห็นการควบรวมกิจการบริษัทหลักทรัพย์กันมากขึ้น เนื่องจากภาวะการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น ทำให้ต้องบริษัทหลักทรัพย์ต้องมีการปรับตัว

*บล.ฟินันซ่ากอดธุรกิจ IB

นายวราห์ สุจริตกุล กล่าวว่า แม้ว่า บล.ฟินันซ่าจะขายธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ออกไปแล้ว บริษัทจะยังเดินหน้าดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง โดยคงเน้นธุรกิจวานิชธนกิจ(IB) ซึ่งส่วนใหญ่จับงานใหญ่ ทั้งดีล M&A การปรับโครงสร้างหนี้ หรือปรับโครงสร้างทางการเงิน ส่วนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีไม่มาก

"เราไม่ได้เปลี่ยน Focus ธุรกิจIB เรายังทำได้ดี แต่ที่เรานำไปควบรวมเพราะเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่า ที่ผ่านมาเฉลี่ยแล้วก็ทำกำไร แต่อนาคตความเสี่ยงเป็นอย่างไร" นายวราห์ กล่าว

ด้านนายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บล.ฟินันซ่า กล่าวว่า บริษัทจะทำการชำระแงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นจำนวน 250 ล้านบาท พร้อมทั้งโอนย้ายเจ้าหน้าที่การตคลาดและพนักงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 200 คน และยัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กว่า 9,600 บัญชี รวม 11 สาขา เข้าไปดำเนินงานร่วมกับ SYRUS

*ACL มุ่งหน้าธุรกิจแบงก์ ดันสินเชื่อปีนี้โต

สำหรับ นายธงชัย อานันโทไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ACL กล่าวว่า การขายบล.สินเอเชีย ในราคามูลค่าบัญชีสิ้นมี.ค.52 จำนวนเงินประมาณ 460 ล้านบาท บริษัทจะได้เงินสดเข้ามาหลังจบดีล อย่างไรก็ตาม บริษัทจะนำเงินอีกส่วนเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน 79 ล้านหุ้น เป็นเงินประมาณ 250 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลังจากนี้ โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ SYRUS จะประกอบด้วย FNS ถือ 24.9%, ธ.สินเอเชียและรายย่อยจากบล.สินเอเซีย ถือ 24.9% , ผู้ถือหุ้นเดิมของ SYRUS ถือประมาณ 25% และผู้ถือหุ้นรายย่อย SYRUS ถือ 25% โดย SYRUS จะมี บล.สินเอเซียเป็นบริษัทลูก และจะมีการเปลี่ยนชื่อ SYRUS ด้วย

ขณะที่ธุรกิจของ ACL จะเน้นไปที่ธุรกิจธนาคาร โดยในปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อขยายตัว 10% หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 5 พันลบ.ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ยังไม่มีสัญญาณว่าเร่งตัวขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ