(เพิ่มเติม) ส.นักวิเคราะห์ เพิ่มคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยปีนี้เป็น 535 จุด จาก 495 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 12, 2009 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นครั้งล่าสุดว่า สมาคมฯ ปรับเพิ่มคาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยปลายปี 52 เป็นเฉลี่ย 535 จุด จากระดับคาดการณ์ในเดือนมีนาคมที่ 495 จุด เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกและของไทย โดยคาดจุดสูงสุดของดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ 582 จุด และต่ำสุดที่ 391 จุด

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ได้ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 52 เป็นติดลบมากขึ้นเป็น 3.6% จากผลสำรวจเดิมติดลบ 1.8% และประมาณการอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น(EPS)ของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ไว้ที่ 5.0%

สาเหตุที่ GDP ของไทยติดลบมากขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ เนื่องจากนักวิเคราะห์ทุกคนมองในเรื่องของปัญหาการเมืองที่จะมีผลกระทบหลายส่วนทั้งท่องเที่ยว ส่งออก และความรู้สึกผู้บริโภค รวมทั้งยังมองว่าการทำงานของภาครัฐยากขึ้นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในส่วนเศรษฐกิจโลก ทุกคนมองในทิศทางที่ดีขึ้น

พร้อมทั้งเสนอแนะภาครัฐจับตาสี่ปัญหาหลัก คือ ปัญหาการเมือง การว่างงาน การส่งออกหดตัว หนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น และเร่งเบิกจ่ายงบรัฐ นอกจากนี้ ยังแนะให้รัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงเร่งโครงการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบน้อยจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมฯ กล่าวว่า ครึ่งหนึ่งของนักวิเคราะห์จากที่สำรวจความเห็นบริษัทหลักทรัพย์รวม 23 แห่ง คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะถึงจุดต่ำสุดภายในครึ่งแรกปี 52 แต่อีก 1 ใน 3 คาดว่าคงต้องรอถึงครึ่งปีหลัง

ในปีนี้กลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่มได้รับการปรับตัวเลขค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่แล้ว เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของ EPS สูงที่สุดด้วย คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเติบโตเฉลี่ย 26.3% กลุ่มพลังงาน เติบโตเป็นอันดับสองที่เฉลี่ย 25.8% และกลุ่มสื่อสาร ถูกคาดว่าหดตัว 4.8% กลุ่มอาหารยังมีอัตราการเติบโตเป็นบวกที่ 3.5% ในขณะที่กลุ่มธนาคารมี EPS หดตัว 6.2% กลุ่มที่ EPS หดตัวมากที่สุดคือ กลุ่มเดินเรือ มีอัตราเฉลี่ยติดลบ 52.8%

สำหรับหุ้นเด่นที่นักวิเคราะห์แนะนำให้ลงทุนตรงกันหลายสำนัก ได้แก่ ADVANC, BANPU, BEC, KBANK, PTT, SCB เป็นต้น

นายสมบัติ กล่าวว่า สมาคมฯ คาดว่าเงินบาทในสิ้นปี 52 น่าจะอยู่ในระดับ 33.80 บาท/ดอลลาร์ จากการสำรวจครั้งก่อนอยู่ที่ 36.30 บาท/ดอลลาร์

การแข็งค่าของเงินบาทค่อนข้างเร็ว แต่ไม่ได้น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะที่ผ่านมาเคยแข็งค่าไปถึง 31 บาทแล้ว ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทครั้งนี้เป็นเพราะมีกระแสเงินทุนเข้ามา โดยเฉพาะเม็ดเงิน Fund flow ตั้งแต่กลางมี.ค เข้ามา net buy ถึง 1.2 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อนที่เงินออกไป 1.6 แสนล้านบาท แต่หากเทียบต้นปีถึงปัจจุบันมีการซื้อสุทธิ 2 พันล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตาม fund flow ที่ไหลเข้ามาในบ้านเราถือว่ายังน้อยหากเทียบเพื่อนบ้าน เพราะไทยยังมีปัจจัยการเมืองกดดันทำให้กังวล

"เรื่องค่าเงินบาทอยากให้แบงก์ชาติประคับประคองค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเร็วจนเกินไป แม้ตัวเลขจะไม่ได้น่ากลัวมาก เพราะเคยอ่อนมานานแล้ว แต่ตอนนี้ปัจจัยมันสวนทางกันระหว่างเม็ดเงินที่ไหลเข้ามากับค่าเงิน"นายสมบัติ กล่าว

ส่วน fund flow จะเข้ามาอีกหรือไม่ นายสมบัติ กล่าวว่า ต้องขอประเมินอีกสักระยะว่าเป็นเงินที่เข้ามาลงทุนในระยะยาวหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ