ฟิทช์ ให้อันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ด้อยสิทธิ SCIB ที่ BBB+(tha)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 12, 2009 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ที่ ‘BBB+(tha)’ แก่หุ้นกู้ไม่มีประกัน ประเภทด้อยสิทธิของธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีมูลค่ารวมไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทและมีอายุ 10 ปี ในขณะที่ SCIB มีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) และอันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นอยู่ที่ ‘F1(tha)’ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตของ SCIB สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจของธนาคารที่ค่อนข้างอ่อนแอ รวมถึงสถานะทางการเงินที่ยังคงไม่แข็งแกร่งนัก ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะได้มีการปรับตัวดีขึ้นแล้วก็ตาม หลังจากที่ธนาคารประกาศผลขาดทุนสุทธิจำนวน 2 พันล้านบาทในปี 50 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 4.1 พันล้านบาทในปี 51 ซึ่งเป็นผลจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของธนาคารไตรมาส 1/52 อ่อนตัวลง โดยกำไรสุทธิลดลงเหลือ 0.7 พันล้านบาท จาก 1.3 พันล้านบาทในไตรมาส 1/51 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากดอกเบี้ยรับสุทธิที่ลดลงและจากการที่บริษัทลูกของธนาคารมีผลขาดทุนของเงินลงทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาด(mark-to-market) ระดับสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/52 อยู่ในระดับคงที่เมื่อเทียบกับสิ้นปี 51

ขณะที่ SCIB ตั้งเป้าที่จะขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นประมาณ 6% ในปี 52 โดยจะเน้นไปที่การขยายสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างมาก โดยฟิทช์ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 3.8% ในปี 52 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายสินเชื่อและผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 52

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SCIB เพิ่มขึ้นเป็น 24.6 พันล้านบาท (คิดเป็น 8.8% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 51 จาก 18.4 พันล้านบาท(หรือ 7.3% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 50 ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่สูงขึ้นของธุรกิจบริการ(ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรม) และอุตสาหกรรมการผลิต

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากการจัดชั้นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในเชิงคุณภาพเพิ่มเติมอีกด้วย คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1/52 โดยธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 26 พันล้านบาท (คิดเป็น 9.3% ของสินเชื่อรวม)ณ สิ้นมีนาคม 52 ในขณะที่อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SCIB ที่ระดับ 62% ณ สิ้นมีนาคม 52 จัดว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธนาคารอื่นๆ ที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70%

ถึงแม้ว่าธนาคารมีแผนที่จะลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลงให้อยู่ที่ประมาณ 5.5% ของสินเชื่อรวมภายในสิ้นปี 52 โดยส่วนใหญ่จะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ธนาคารอาจต้องเผชิญกับคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนตัวลงในปี 52 เนื่องจากผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่รุนแรง รวมทั้งธนาคารมีความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อในธุรกิจขนาดกลางและย่อม (39% ของสินเชื่อรวม) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (14% ของสินเชื่อรวม) และธุรกิจบริการ (12% ของสินเชื่อรวม) ในสัดส่วนที่สูง ซึ่งอาจส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารเพิ่มขึ้น

SCIB มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในระดับที่ค่อนข้างสูงโดยมีเงินลงทุนทั้งหมด 81 พันล้านบาท หรือ คิดเป็น 19.2% ของสินทรัพย์รวม ทั้งนี้การลงทุนของธนาคารส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ(61.5%) และตราสารหนี้ในต่างประเทศ (12.6%) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ของภาครัฐและสถาบันการเงิน ระดับเงินกองทุนของธนาคารจัดอยู่ในระดับพอเพียง โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารที่ 9.8% สำหรับเงินกองทุนขั้นที่ 1 และที่ 10.5% สำหรับเงินกองทุนรวม ณ สิ้นมีนาคม 2552 อย่างไรก็ตามระดับเงินกองทุนดังกล่าวอาจลดลงในอนาคตหากเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง

การเพิ่มความแข็งแกร่งในด้านเครือข่ายธุรกิจของธนาคาร การบริหารและการควบคุมความเสี่ยง รวมทั้งความชัดเจนในส่วนของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในระยะยาว และการให้ความสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลัก อาจช่วยเพิ่มอันดับเครดิตของ SCIB ได้ในระยะกลาง

กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยได้เข้าถือหุ้นใหญ่ใน SCIB หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 และในปี 2545 SCIB ได้ควบรวมกับธนาคารศรีนคร โดยปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯถือหุ้น 47.6% ใน SCIB แต่มีแนวโน้มที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงในอนาคต ดังนั้น โอกาสที่ SCIB จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจึงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก

ปัจจุบัน SCIB มีพนักงานประมาณ 7,200 คน และมีจำนวนสาขากว่า 400 สาขาทั่วประเทศ มีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสินเชื่อ 4.8% และด้านเงินฝาก 5.6% ธนาคารยังมีบริษัทในเครือซึ่งดำเนินธุรกิจประกัน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุน และธุรกิจเช่าซื้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ