(เพิ่มเติม) รฟม.เผยกลุ่ม ASCON-PLE เสนอราคาต่ำสุดสัญญา 3 รถไฟฟ้าสายสีม่วง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 23, 2009 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม) ประกาศผลเปิดซองประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) สัญญา 3 ปรากฎว่ากลุ่มพีเออาร์จอยท์เวนเจอร์ ประกอบด้วย บมจ. เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง(PLE) บมจ.แอสคอน คอนสตรัคชั่น(ASCON) และบริษัท รวมนครก่อสร้าง(ประเทศไทย) จำกัด เสนอราคาราคาต่ำสุด 6,399 ล้านบาท

ทั้งนี้ สัญญาที่ 3 เป็นงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ วงเงินที่ครม.อนุมัติไว้ที่ 6,000 ล้านบาท

บริษัทรับเหมาก่อสร้างอีก 3 ราย ยื่นข้อเสนอด้านราคา ดังนี้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD)เสนอราคา 6,878 ล้านบาท, กลุ่ม CKTC Jointventure ประกอบด้วย บมจ.ช.การช่าง(CK) และ บริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนราคา 7,636 ล้านบาท , กลุ่มทาเกนากะ-ฤทธา จอยท์เวนเจอร์ เสนอราคา 8,809 ล้านบาท

"ณ วันนี้เรายังมั่นใจว่าตัวเลข(ค่าก่อสร้างทั้งโครงการ)น่าจะอยู่ในกรอบหรือใกล้เคียง 3.6 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่ได้อย่างไรค่อยคิดกันอีกทีหนึ่ง ตอนนี้ก็ต้องรอดูผลเจรจาสัญญา 2 และ 3"นายชูเกียรติ โพธยานุวัตร ว่าที่ผู้ว่าการ รฟม.กล่าว

ก่อนหน้านี้ กลุ่ม CKTC เสนอราคาค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 1 ต่ำสุดที่ 16,724 ล้านบาท และต่อรองราคาจนเหลือ 14,842 ล้านบาท และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)เสนอราคาค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 2 ต่ำสุดที่ 15,320 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 12,602 ล้านบาท

นายชูเกียรติ คาดว่า การเจรจาต่อรองราคากับกลุ่ม CKTC ได้ข้อยุติแล้ว และคาดว่าจะเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 1 ได้ในราวกลางเดือนหรือปลายเดือน ส.ค.นี้

ส่วนแนวโน้มการเจรจาต่อรองราคากับ STEC เพื่อลดค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 2 น่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ และน่าจะเซ็นสัญญากันได้หลังจากเซ็นสัญญาในสัญญาที่ 1 แล้วประมาณ 1 เดือน โดยหลังจากที่ปรึกษาของรฟม.ได้ตรวจสอบรายการต่าง ๆ แล้ว มีการปรับลดราคาลงมาในเบื้องต้นที่ 15,314 ล้านบาท

นายชูเกียรติ กล่าวว่า ตามกรอบของวงเงินลงทุนรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.อยู่ที่ 36,055 ล้านบาท ซึ่งมีงานโยธา 3 สัญญา และงานระบบรางอีก 1 สัญญา เพราะฉะนั้น แนวทางแรกจะต้องพยายามเจรจากับเอกชนให้ได้อยู่ในกรอบ ขณะนี้คาดว่าจะสามารถเจรจาสัญญาที่ 1, 2 และ 3 ให้ได้อยู่ในกรอบวงเงินประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท

ส่วนระบบรางมีวงเงินที่ ครม.อนุมัติที่ 4 พันล้านบาท คาดว่าทางไจก้าจะอนุมัติวงเงินกู้ได้ราวเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นอีก 1 เดือนคาดว่า รฟม.จะเปิดขายเอกสารประกวดราคาได้

ขณะเดียวกัน ระบบตัวรถไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ ยังเป็นไปตามมติเดิมที่ ครม.ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยกรอบวงเงินอยู่ที่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมเตรียมรายงานเอกสารรายละเอียดไปที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)เพื่อกลั่นกรองก่อนเสนอให้ครม.พิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ