บล.โกลเบล็ก ยัน UOBKH-BSEC ไม่เคยติดต่อควบรวม-คาดทั้งปีกำไร 80 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 17, 2009 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ซีอีโอ บล.โกลเบล็ก ซึ่งเป็นบริษัทย่อย(ถือ 99.99%)ของบมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX) ยืนยันไม่ได้รับการติดต่อจากทั้งธนาคารยูโอบีและบล.ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย)(UOBKH) รวมทั้ง บล.บีฟิท (BSEC) เพื่อขอเข้าควบรวมกิจการ รวมทั้งได้สอบถามจากนายโอฬาร คูหาเปรมกิจ ผู้ถือหุ้นใหญ่ GBX ก็ได้รับคำตอบว่าไม่เคยติดต่อกับใครเช่นกัน แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาเคยมีบริษัทหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เสนอให้บริษัทเข้าไปซื้อกิจการ แต่มองว่ายังไม่มีความจำเป็น

ปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)กระเตื้องขึ้นมาใน ก.ค.เป็น 2% จากเป้าหมาย 3% ในปีนี้ และในไตรมาส 2/52 เชื่อว่าจะมีกำไร และล้างขาดทุนในไตรมาส 1/52 จำนวน 16 ล้านบาทได้ด้วย ทั้งปีคาดกำไรไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท พลิกสถานการณ์จากปีก่อนที่ขาดทุน 42 ล้านบาท เชื่อภาพเนื้อหอมมาจากเตรียมแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปีหน้า

"ไม่ได้รับการติดต่อ ไม่เคยแม้แต่คุยทางโทรศัพท์แม้แต่ครั้งเดียวกับทางแบงก์ยูโอบี หรือ บล.ยูโอบี แต่ใครจะไปลือเราก็ไม่รู้ ผมมองว่า UOBKH ที่จะเข้าซื้อ BSEC อาจจะยืดเยื้อและอาจไม่ตัดสินใจซื้อแล้วเนื่องจากทีมงานของ BSEC ค่อยๆออกค่อนข้างเยอะ แต่เราเห็นเกมในใจเขาแล้วว่าคงอยากซื้อโบรกเพื่อมาควบรวม"นายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าทีบริหาร บล.โกลเบล็ก กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ เขาเห็นว่า ส่วนแบ่งตลาดของ UOBKH ใกล้เคียงกับ บล.โกลเบล็ก และมีอันดับใกล้เคียงกัน โดยอยู่ที่ 24 และ 26 ตามลำดับ โดย บล.โกลเบล็กมีฐานลูกค้ารายย่อย ขณะที่ UOBKH มีลูกค้าจากสิงคโปร์ด้วย ฉะนั้นหาก UOBKH ต้องการให้ส่วนแบ่งตลาดโตขึ้น ก็ต้องหาโบรกเกอร์ที่มีฐานลูกค้ารายย่อยเข้ามาควบรวม จึงมีกระแสข่าวลือดังกล่าวออกมา

"มา ณ วันนี้ บอกได้เลยว่า ไม่จำเป็นต้องควบรวมกับใคร ด้วยโครงสร้างรายได้ที่เรามีอยู่ เราอยู่ได้ด้วยตัวเราเอง ..และได้คุยกับผู้ถือหุ้นใหญ่ (นายโอฬาร) ทุกวัน ไม่ได้หาใครเข้ามา"นายชนะชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีโบรกเกอร์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เสนอให้บริษัทเข้าไปซื้อกิจการ แต่พิจารณาแล้วโครงสร้างรายได้ของโบรกเกอร์แห่งนั้นกับ บล.โกลเบล็กเมื่อปีก่อน มีลักษณะคล้ายกันคือมีรายได้จากนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 90% และมีฐานลูกค้ารายย่อยเหมือนกัน จึงเห็นว่ายังไม่มีประโยชน์ในการเข้าควบรวมกิจการกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ