นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) ประกาศเป้าหมายภายในปี 56 ขึ้นเป็น 1 ใน 3 ธนาคารสร้างอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น(ROE)สูงสุด เชื่อด้วยเครือข่ายและความแข็งแกร่งของบริษัทแม่จะช่วยหนุนการเติบโตได้ตามที่คาดไว้ โดยเริ่มวางรากฐานการเติบโตอย่างแข็งแกร่งภายในปีนี้ ขณะที่ซีไอเอ็มบีกรุ๊ปคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยราว มิ.ย.53 นี้
"ปีที่ผ่านมาพยายามปัดกวาดให้เรียบร้อยเข้าที่ เพื่อปรับปรุงวางรากฐานให้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืน" นายสุภัค กล่าวCIMBT ตั้งเป้าทางธุรกิจในปี 53 จะมี ROE สูงขึ้นเป็น 7.10% จาก 0.06% ในปีก่อน โดยจะขยายสินเชื่อและเงินฝากในระดับ 10-15% จากที่ปี 52 สินเชื่อลดลง 6.8% และเงินฝากลดลง 44.6%
ขณะที่ลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ให้มีสัดส่วนลงเหลือน้อยกว่า 5% จาก 6.0% ในปี 52 พร้อมทั้งตั้งเป้าเพิ่มส่วนต่างดอกเบี้ย(NIM) ให้ได้ 3.5-3.9% จาก 2.7% ในปี 52 และคาดว่าจะมีรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยโตมากกว่า 30%
"ธนาคารวางเป้าการเติบโตของสินเชื่อรวมในปี 53 ไว้ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ตั้งอัตราการเติบโตด้านเงินฝากประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ส่วนอัตราการขยายตัวของรายได้จากค่าธรรมเนียมใหม่อยู่ประมาณ 35-40 เปอร์เซ็นต์" นายสุภัค กล่าวนายสุภัค กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะเน้นการเติบโตของรายได้ที่มั่นคงและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง ด้วยการเดินหน้าลงทุนในธุรกิจหลัก และเน้นประสิทธิภาพการใช้จ่ายและต้นทุนไปพร้อมๆ กันใน 3 ด้าน ได้แก่ การบริหารต้นทุนทางการเงิน เช่น การเพิ่มสัดส่วนเงินฝากบัญชีกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์จาก 25% ในปลายปี 52 มาเป็น 30%, กระจายแหล่งต้นทุน, ปรับปรุงการบริหารช่องทางการจำหน่ายและบริการ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งสร้างผลประกอบการที่ดีและมีความรับผิดชอบ
รวมทั้ง การเพิ่มผลตอบแทนจากสินเชื่อที่เป็นธุรกิจใหม่ เช่น สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน, สินเชื่อธุรกิจ SMEs ในต่างจังหวัด, ออกผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับลูกค้าองค์กรขนาดกลาง ธุรกิจที่เน้นการอนุรักษ์พลังงาน สินเชื่อที่มีอนุพันธ์แฝงและมีออพชั่น การเจาะตลาดวานิชธนกิจ
การเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียม เช่น ปรับปรุงกระบวนการ cross selling, เพิ่มธุรกรรมกลุ่มผลิตภัณฑ์ transactional banking, หาพันธมิตรทางธุรกิจ, สร้างการเติบโตธุรกิจด้านวานิชธนกิจ
"หากมีลูกค้าเราของที่ต้องการไปลงทุนในมาเลเซีย สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย เราก็จะส่งต่อให้กับเครือข่ายในกลุ่ม CIMB Groupที่อยู่ในประเทศนั้นๆ" นายสุภัค กล่าวส่วนกรณีการนำหุ้นซีไอเอ็มบีกรุ๊ปมาเลย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้นคาดว่าจะเป็นเดือน มิ.ย.53 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก โดยนี้อยู่ระหว่างรองบการเงินไตรมาส 1/53 ที่จะต้องรายงานให้ตลาดหุ้นมาเลเซียก่อนจะส่งมาให้ .ล.ต.ของไทย คาดว่ากำไรน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ๆ ที่เฉลี่ยระดับ 600 ล้านริงกิต
ทั้งนี้ ซีไอเอ็มบีกรุ๊ปเป็นผู้ให้บริการทางด้านการเงินที่มีขาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือหุ้นโดย Bumiputra-Commerce Holdings Bhd บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศมาเลเซีย ด้วยมูลค่าตลาด(Market Capitalization) เกือบ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และต่อมาได้เข้าควบรวมกิจการในประเทศสิงค์โปร์ อินโดนีเซีย และไทย