บลจ.กรุงไทยออกกองทุนตราสารหนี้ใน-ตปท. อายุ 6 เดือน คาดผลตอบแทน 1.60%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 28, 2010 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่าย กองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ เอ 6 เดือน 1 (KTSUPA6M1)ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 3 ส.ค.53 อายุโครงการ 6 เดือน มูลค่า 1,500 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณการที่ 1.60% ต่อปี

กองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ โดยแผนการลงทุนจะเน้นลงทุนในตราสารการเงินประเภท Euro Commercial Paper(ECP)ที่ออกโดย Export-Import Bank of Korea(A1)เป็น Policy Bank ที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลเกาหลีใต้ทั้ง 100% และ Kookmin Bank(A1)ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้

นอกจากนี้ กองทุนจะลงทุนในเงินฝากประจำของธนาคาร Barclays (AA-) ที่สาขาประเทศ United Arab Emirates รวมถึงจะลงทุนในตั๋วแลกเงินในประเทศที่ออกโดย บจ.อยุธยาดีเวลลอปเม้นท์ ลิสซิ่ง (A-) และ บมจ.เอเซียเสริมกิจ ลีสซิ่ง (BBB+) โดยเงินลงทุนในต่างประเทศจะมีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

นายสมชัย กล่าวว่า บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดซื้อขายรอบใหม่ (Rollover) สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทย ประจำ 3 เดือน คุ้มครองเงินต้น 2(KTFIX3M2)อายุโครงการ 3 เดือน ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 ก.ค.53 เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรภาครัฐในประเทศ 99% และส่วนที่เหลือลงทุนใน เงินฝากของธนาคารสินเอเชีย ผลตอบแทนประมาณการที่ 1.20% ต่อปี

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรภาครัฐในไทยระยะไม่เกิน 6 เดือน ในช่วงที่ผ่านมามีการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพิ่มเป็น 1.50% ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นต่อเนื่องอีก 0.25- 0.50% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศยังมีความผันผวนจากตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังมีความอ่อนแอ แม้ว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่ในยุโรปจะผ่านการทดสอบความแข็งแกร่งทางการเงิน (Stress Test) ขณะที่ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงและค่อนข้างผันผวน จึงทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศเมื่อแปลงกลับเป็นสกุลเงินบาทปรับลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ยังสูงกว่าการลงทุนในตราสารในประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ