"โสภณ"ฟ้องนายกฯกรณี THAI รีบร้อนร่วมทุนไทเกอร์แอร์,"ปิยสวัสดิ์"พร้อมแจง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 4, 2010 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันนี้ได้หารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีถึงการจัดตั้งสายการบินไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส โดยรายงานว่า บมจ. การบินไทย (THAI) จะร่วมทุนกับสายการบินไทเกอร์ แอร์เวย์ส และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นหรือเอ็มโอยูแล้วเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยการบินไทยจะลงทุน 100 ล้านบาท ถือหุ้น 49.8% และได้สิทธิในการบริหารจัดการ ซึ่งตนไม่ทราบรายละเอียดในการร่วมทุนดังกล่าว เพราะที่ผ่านมากรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยได้มารายงานด้วยวาจาเน้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ปลัดกระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือถึงการบินไทยเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงในการจัดตั้งไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์สในประเด็นต่าง ๆ นเช่น การดำเนินการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทยในการเดินทางทางอากาศหรือไม่อย่างไร การที่การบินไทยร่วมทุนทั้งนกแอร์ และไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำเหมือนกันจะเกิดการแข่งขันทางการตลาดระหว่างกันหรือไม่ และมีผลกระทบต่อนกแอร์อย่างไร

ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า การบินไทยพร้อมชี้แจงรายละเอียดต่างๆทันทีที่ได้รับหนังสือจากกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการบินไทยและสายการบินนกแอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องการทราบเช่นกัน ที่ผ่านมาได้ชี้แจงสื่อมวลชนถึงเหตุผลในการจัดตั้งไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์สไปแล้ว โดยเป้าหมายการจัดตั้งคือการแย่งส่วนแบ่งการตลาดเส้นทางบินในประเทศที่เหลืออีก 50% และตลาดภูมิภาคที่เหลืออีก 67% ซึ่งเป็นของสายการบินอื่น

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้นายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้สั่งการให้ยกเลิกแผนการจัดตั้งไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์สแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจอนุมัติที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สามารถดำเนินการได้ เพราะวงเงินลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท โดยการบินไทยจะใช้เงินลงทุนในการจัดตั้งไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส 100 ล้านบาทเท่านั้น และที่ผ่านมาได้ชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้นให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังรับทราบแล้ว เพราะต้องการให้เกิดความโปร่งใส

"ยืนยันว่าไม่ได้เร่งรีบ เพราะเสนอให้คณะกรรมการการบินไทยพิจารณาถึง 2 ครั้ง เดิมกำหนดเซ็นเอ็มโอยูวันที่ 9 ส.ค.53 แต่ต้องเลื่อนเป็นวันที่ 2 ส.ค. เพราะมีข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชน จึงต้องเลื่อนเซ็นเอ็มโอยูให้เร็วขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเรื่องนี้เป็นไปตามขั้นตอนปกติ ไม่ได้เร่งร้อน หากผิดพลาดผู้บริหารต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ในทางตรงข้ามหากผู้บริหารไม่ทำอะไรเลย จนการบินไทยเสียหายจากการเสียโอกาสในการสร้างรายได้ในอนาคต ผู้บริหารก็ต้องรับผิดชอบเช่นกัน หรือหากมีคนมาห้าม คนที่ห้ามก็ต้องรับผิดชอบ" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ