นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยภายหลังได้ร่วมหารือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ถึงกรณีที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index)ปรับลดลงวานนี้ โดยเฉพาะในการซื้อขายภาคเช้าจนถึงช่วงแรกของภาคบ่าย และได้ปรับตัวดีขึ้นจนปิดที่ 904.06 จุด ลดลง 5.65% โดยพบว่าเมื่อเทียบการซื้อขายในช่วง 5 วันทำการที่ผ่านมา ตลท.ทรัพย์ไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศ TIP (ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) ได้ปรับลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกันโดยตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลง 11.1% อินโดนีเซีย 11.6% และฟิลิปปินส์ 13.6% ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้ปรับลดลงไปตั้งแต่สัปดาห์ก่อนแล้ว
สำหรับปัจจัยที่ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลง เป็นผลจากการลดลงของ 2 หมวดธุรกิจที่มี Market Cap. ใหญ่ ได้แก่ หมวดธนาคาร (Banking) และหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy & Utilities) โดยหมวดพลังงานฯ ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่ หมวดธนาคารได้รับผลกระทบจากปัญหาธนาคารในยุโรป ประกอบกับมีการกระจายสินทรัพย์ (Asset Allocation) จากสินทรัพย์ที่ผันผวนสูงโดยเฉพาะน้ำมัน ทอง และหุ้น ไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
"บริษัทจดทะเบียนไทยมีพื้นฐานที่ดี เห็นได้จากความสามารถในการทำกำไรที่ดีต่อเนื่องโดยมีกำไรสุทธิในช่วง 6 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้น 35% จากปีที่แล้ว และมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกลางสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ 110,050 ล้านบาท นอกจากนี้ ในภาค Real Sector ยังแข็งแรง โดยได้รับการยืนยันจากคุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่าบริษัทต่าง ๆ มีแผนรองรับที่ดี แม้จะมีวิกฤตยุโรปก็ตาม"นายจรัมพร กล่าว
นายชาญชัย กงทองลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในตลาดโลกยังมีความระมัดระวังในการลงทุนสินทรัพย์มีความเสี่ยง ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย โดยผลกระทบที่เกิดจาก panic selling ในครั้งนี้ เนื่องจากตลาดไทยปรับตัวลงช้ากว่าตลาดอื่น และยืนยันว่า short sale ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดลง สำหรับตลาดอนุพันธ์ที่มีข่าวลือว่าเกิดการ forced sell นั้นได้ตรวจสอบแล้วพบว่าน้อยมาก จึงไม่ใช่สาเหตุเนื่องจากผู้ลงทุนในตลาดอนุพันธ์เข้าใจและปรับสถานะได้อย่างเหมาะสม
"พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง แต่ผู้ลงทุนต้องติดตามสถานการณ์ว่ายุโรปจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีอิทธิพลต่อตลาดผู้ลงทุนควรระมัดระวังในการลงทุนโดยติดตามข่าวสารในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด" นายชาญชัย กล่าว
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงครั้งนี้ เป็นแรงขายจากต่างประเทศ ช่วงที่ผ่านมาตลาดอื่นปรับตัวลดลงและค่าเงินบาทในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียค่อนข้างแข็งค่า ทำให้ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ขายหุ้นออกมาเพื่อเยียวยากับการลงทุนในตลาดอื่น จากการประเมินเบื้องต้นเห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นผู้ลงทุนควรติดตามข้อมูลรวมทั้งงานวิจัยของโบรกเกอร์เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งขณะนี้เป็นเวลาที่ผู้ลงทุนที่สามารถเริ่มทยอยสะสมลงทุนในหุ้น และกองทุน LTF/RMF ได้
นายมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีสำหรับบริษัทสมาชิกและผู้ลงทุน ประการแรก คือการมีระบบ Margin ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 มีระบบ Equity Credit Bureau ที่ทำให้บริษัทสมาชิกสามารถเห็นข้อมูลการให้ข้อมูลการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin) ทำให้มีข้อมูลที่ดีในการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ และช่วยจำกัดความเสี่ยง สำหรับอัตราการวางหลักประกันในการซื้อขาย 15% เป็นเป็นอัตราที่เหมาะสม เพราะทำให้นักลงทุนมีความรอบคอบ
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมบริษัทนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า การลงทุนในช่วงนี้แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งมาตรการ Operation Twist ของธนาคารกลางของสหรัฐฯ ที่มุ่งเป้ากดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวลดลงผู้ลงทุนจึงควรใช้ความรอบคอบในการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในขณะที่การลงทุนระยะสั้นในช่วงนี้ยังมีความไม่แน่นอน
"ขณะนี้หุ้นไทยอยู่ในภาวะตลาดขาลง ซึ่งต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานอย่างชัดเจน หุ้นที่นักวิเคราะห์รวบรวมใน SAA Consensus จะเห็นได้ว่าหุ้นในกลุ่ม SET50 มีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน 20-30% ซึ่ง ณ ระดับดัชนีที่ 900 จุด ผลตอบแทนจากเงินปันผลอยู่ที่ประมาณ 4% ถือว่าสูง ขณะที่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ประกอบกับมีตัวช่วยจากนโยบายรัฐบาลที่ตลาดอื่นไม่มี คือ การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปี 2555 และจะลดเป็น 20% ในปี 2556 ซึ่งจะทำให้พื้นฐานบริษัทจดทะเบียนไทยดีขึ้น รวมทั้งมาตรการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนซึ่งจะทำให้จะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญคือผู้ลงทุนต้องมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี" นายสมบัติ กล่าวเสริม