TTAพร้อมแจง DSIหลังผถห.กล่าวหา ขู่ฟ้องกลับหากเสียภาพลักษณ์-ธุรกิจชะงัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 22, 2011 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวินท์ ภักดีจิตต์ กรรมการ สำนักกฎหมายเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ประเทศไทย ในฐานะตัวแทนทางกฎหมายของ บมจ. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) เปิดเผยผ่านเอกสารเผยแพร่ชี้แจงข้อกล่าวหาของผู้ถือหุ้นที่ยื่นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI)ซึ่งระบุผู้กระทำผิดคือ ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบัญชีและการเงิน ผู้บริหารของ TTA

พร้อมทั้งระบุว่า หาก TTA พบว่ามีการกระทำใดๆ ที่พยายามจะสร้างความสับสนแก่นักลงทุน หรือทำให้ภาพลักษณ์ของ TTA เสียหาย หรือทำให้ธุรกิจของบริษัทต้องหยุดชะงัก TTA ก็จำเป็นจะต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ปกป้องมิให้ภาพลักษณ์และการดำเนินธุรกิจของ TTA ได้รับความเสียหาย

ในเนื้อหาของเอกสารชี้แจงระบุว่า ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุนใน บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) ของ TTA นั้นผ่านการวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนเข้ามาดูแล และให้คำปรึกษาแนะนำทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ ทาง TTA ได้รับแจ้งให้ไปรับฟังข้อกล่าวหาดังกล่าวในวันที่ 20 ธ.ค.ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้บริหารของ TTA ได้รับหมายเรียกพนักงานสอบสวนในเรื่องดังกล่าวนี้ ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่มั่นใจว่าผู้บริหารของ TTA จะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ เนื่องจากการลงทุนใน UMS ของ TTA นั้น กระทำด้วยความโปร่งใสและเป็นไปตามขั้นตอนการเข้าซื้อกิจการอันสมควรแล้ว

ขณะที่ตามข้อมูลในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัท ผู้ถือหุ้นรายย่อยสองรายที่เป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องในครั้งนี้มีรวมกันทั้งหมด 146 หุ้น หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 2,774 บาท (ราคาปิดตลาด ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2554) เท่านั้น

และจนถึงบัดนี้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังมิได้ตั้งข้อกล่าวหาใดๆต่อผู้บริหารของ TTA จากเหตุข้อกล่าวหาของผู้ถือหุ้นดังกล่าว อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้ถือหุ้นทั้งสองรายได้ยื่นเรื่องกับทาง DSI โดยตรง DSI จึงต้องรับคำร้องดังกล่าวไว้เพื่อพิจารณาและสอบสวนตามหน้าที่ โดย TTA ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับ DSI อย่างเต็มที่

ส่วนกรณีที่มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับระบุว่าตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายย่อยกลุ่มนี้ได้ยื่นคำร้องต่อ ก.ล.ต.ให้ ม.ล. จันทรจุฑา และนางฐิติมา พ้นจากสถานะผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน น่าจะเป็นผลจากความเข้าใจข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะตามประกาศของ ก.ล.ต.เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้บริหารและผู้จัดการของบริษัทจดทะเบียนระบุไว้ว่าผู้บริหารจะถูกตัดสิทธิ์ก็ต่อเมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหาโดยคณะกรรมการ ก.ล.ต.เท่านั้น ดังนั้น การถูกกล่าวหาจากบุคคลอื่นใด จึงไม่มีผลทำให้ผู้บริหารต้องพ้นจากสถานะดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ