IRPC เผย Q2/55 พลิกขาดทุน รับ stcok loss-ค่าเสื่อมเพิ่ม-ปรับมูลค่าหุ้น TOP

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 27, 2012 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC)เปิดเผยว่า ไตรมาส 2/55 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายสุทธิ 72,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/54 จำนวน 7,441 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เป็นผลมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลงร้อยละ 2 จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลง นอกจากนี้บริษัทฯ มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น จากกำไรจากการ ตีราคาโลหะมีค่า (แพลตินั่มและพาลาเดียมซึ่งเป็นส่วนประกอบของตัวเร่งปฏิกริยาเคมี) จำนวน 282 ล้านบาท

บริษัทมี EBITDA ก่อนรวมขาดทุนจากสต๊อคน้ำมันสุทธิและ LCM จำนวน 1,640 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2/54 ที่ 1,991 ล้านบาท ลดลง 351 ล้านบาท สาเหตุหลักจากกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาดต่ำลงจาก 8.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 7.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยไตรมาสนี้มีขาดทุนจากสต๊อคน้ำมันสุทธิรวม LCM จำนวน 3,438 ล้านบาท คิดเป็น 7.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ไตรมาส 2/54 มีกำไรจากสต๊อคน้ำมันสุทธิรวม LCM จำนวน 1,880 ล้านบาท คิดเป็น 3.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ดังนั้น ทำให้บริษัทฯ มี EBITDA หลังหักขาดทุนจากสต๊อคน้ำมันสุทธิและ LCM ติดลบ 1,798 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2/54 จำนวน 5,669 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 4,060 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2/54 จำนวน 6,397 ล้านบาท เนื่องจากค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น 207 ล้านบาท โดยต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 128 ล้านบาท ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 208 ล้านบาท ขาดทุนจากการปรับมูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อค้า (หุ้นไทยออลย์) เพิ่มขึ้น 104 ล้านบาท และค่าเสียหายจากการถูกฟ้องร้องคดีกรณีผิดสัญญาเช่าเรืออีกจำนวน 196 ล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 55 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายสุทธิ 146,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อน 24,811 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เป็นผลมาจากปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 โดยมี EBITDA ก่อนรวมผลขาดทุนจากสต๊อคน้ำมันสุทธิและ LCM จำนวน 1,192 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 2,912 ล้านบาท เนื่องจากกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาดปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 5.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่งวดเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 8.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นผลจากอุปสงค์ที่ลดลงจากปัญหาวิกฤตทางการเงินในยุโรป การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในจีนและสหรัฐอเมริกา

โดยงวด 6 เดือนแรกปีนี้มีขาดทุนจากสต๊อคน้ำมันสุทธิและ LCM จำนวน 1,017 ล้านบาท คิดเป็น 1.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่งวดเดียวกันปีก่อนมีกำไรจากสต๊อคน้ำมันสุทธิและ LCM จำนวน 4,644 ล้านบาท คิดเป็น 4.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้บริษัทฯ มี EBITDA หลังหักขาดทุนจากสต๊อคน้ำมันสุทธิและ LCM จำนวน 175 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อนจำนวน 8,573 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 3,116 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อน จำนวน 9,226 ล้านบาท เนื่องจากค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น 442 ล้านบาท ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 207 ล้านบาท และมีค่าเสียหายจากการถูกฟ้องร้องคดีกรณีผิดสัญญาเช่าเรืออีกจำนวน 196 ล้านบาท

สถานการณ์ราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากสิ้นไตรมาส 1/55 ปิดที่ 120.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงอยู่ที่ 92.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ สิ้นไตรมาส 2/55 ลดลง 27.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยไตรมาส 2/55 อยู่ที่ 106.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากไตรมาส 2/54 เท่ากับ 4.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล คิดเป็น 4% และลดลงจากไตรมาส 1/55 เท่ากับ 9.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล คิดเป็น 8%

การผลิตปริมาณกลั่นรวมในไตรมาส 2/55 เท่ากับ 15.58 ล้านบาร์เรล คิดเป็น 171 พันบาร์เรลต่อวัน โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 80% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/54 ลดลงเล็กน้อย และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/55 ลดลง 7% สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งมีการผลิตต่อเนื่องจากธุรกิจปิโตรเลียมโดยรับผลิตภัณฑ์แนฟทาจากโรงกลั่นมาผลิตต่อ ในไตรมาส 2/55 อัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มอะโรเมติกส์อยู่ที่ 63% กลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์อยู่ที่ 88% และกลุ่มสไตรินิกส์อยู่ที่ 89%

ปริมาณและมูลค่าการขาย ในไตรมาส 2/55 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 72,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/54 จำนวน 7,441 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 โดยมีปริมาณขายรวม 17.03 ล้านบาร์เรล เทียบกับไตรมาส 2/54 ที่ 14.98 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 คิดเป็นมูลค่า 8,760 ล้านบาท ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลงร้อยละ 2 คิดเป็นมูลค่า 1,319 ล้านบาท ในขณะที่รายได้อื่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากในไตรมาส 2/2555 มีกำไรจากการตีราคาแพลตินั่มและพาลาเดียม จำนวน 282 ล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนปี 55 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 146,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้นงวดเดียวกันปีก่อนจำนวน 24,811 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 โดยมีปริมาณขายรวม 33.54 ล้านบาร์เรล เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่ 29.09 ล้านบาร์เรลเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 คิดเป็นมูลค่า 17,210 ล้านบาท และราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 คิดเป็นมูลค่า 7,601 ล้านบาท

ไตรมาส 2/55 บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM ) อยู่ที่ 7.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/54 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 1.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดย GRM กลุ่มปิโตรเลียมลดลง 3.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Product-to-Feed Margin (PTF) กลุ่มปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น 0.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล กลุ่มไฟฟ้าและสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น 1.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลงจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHP) ซึ่งเริ่มดำเนินการในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2/55 มีจำนวน 2,201 ล้านบาท คิดเป็น 4.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2554 ซึ่งมีจำนวน 2,214 ล้านบาท คิดเป็น 4.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และงวด 6 เดือนปี 55 มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจำนวน 4,257 ล้านบาท คิดเป็น 4.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 4,377 ล้านบาท คิดเป็น 4.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 120 ล้านบาท หรือร้อยละ 3 และค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อหน่วยลดลง คิดเป็นร้อยละ 9 สาเหตุหลักจากค่าซ่อมบำรุงลดลงและระดับการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4

ค่าเสื่อมราคาสำหรับไตรมาส 2/55 มีจำนวน 1,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/54 จำนวน 207 ล้านบาท หรือร้อยละ 24 เนื่องจากเริ่มตัดค่าเสื่อมราคาโครงการโรงผลิตพลังไอน้ำและไฟฟ้าร่วม (CHP) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 54 และค่าซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผน (Turnarou nd) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 และโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพน้ำมันแก๊สโซลีน (GHU) ในไตรมาส 2/55 สำหรับค่าเสื่อมราคางวด 6 เดือนปี 55 เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อน จำนวน 442 ล้านบาท หรือร้อยละ 26

ต้นทุนทางการเงินสุทธิสำหรับไตรมาส 2/55 มีจำนวน 426 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/54 เท่ากับ 128 ล้านบาท หรือร้อยละ 43 เนื่องจากดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 123 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากโครงการผลิตพลังไอน้ำและไฟฟ้าร่วม (CHP) แล้วเสร็จจึงต้องรับรู้ดอกเบี้ยจ่ายงานโครงการเป็นค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือนมิถุนายน 54 ต้นทุนทางการเงินงวด 6 เดือนปี 55 มีจำนวน 810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนจำนวน 207 ล้านบาท หรือร้อยละ 34 เนื่องจากดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 246 ล้านบาท ดอกเบี้ยรับลดลง 12 ล้านบาทและมีกำไรจากสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของหุ้นกู้เพิ่มขึ้น 50 ล้านบาท

บริษัทฯ มีขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้สกุลเหรียญสหรัฐฯ สำหรับไตรมาส 2/55 จำนวน 312 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาส 2/54 มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 104 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และงวด 6 เดือนปี 25 มีขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยน 87 ล้านบาท ในขณะที่งวด 6 เดือนสิ้นสุดไตรมาส 2/54 ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 132 ล้านบาท และบริษัทได้ปรับมูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อค้า (หุ้นไทยออยล์) ตามราคาตลาด โดยในไตรมาส 2/55 บริษัทฯ บันทึกขาดทุน 262 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/54 ขาดทุน 158 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 104 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนปี 2555 บริษัทฯ บันทึกขาดทุน 18 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนปีก่อน ขาดทุน 68 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 50 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ