(เพิ่มเติม) SUPER ส่งบ.ย่อยซื้อหุ้น 49% โซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 12 โครงการ รวม 48.2 MW,ซื้อกิจการโรงไฟฟ้าขยะ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 15, 2016 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) ส่งบริษัทย่อยเข้าซื้อหุ้น 49% ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 12 โครงการ กำลังการผลิตรวม 48.20 เมกะวัตต์ (MW) พร้อมทั้งการเข้าซื้อกิจการ 100% ในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ ของ SUPER เปิดเผยว่าคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ บริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี จำกัด เข้าลงทุนในบริษัท กรีน พาวเวอร์ เอ็นเนอร์จี จำกัด ในสัดส่วน 100% ของทุนจดทะเบียน เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะอุตสาหกรรม โดยมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) ในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุด 9 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ การเข้าไปลงทุนใน "กรีน พาวเวอร์ เอ็นเนอร์จี " บริษัทเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการทำกำไร อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ในอนาคตให้เติบโตในทิศทางที่ดี โดยมีมูลค่าการเข้าทำรายการทั้งหมดไม่เกิน 1,280.98 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) มูลค่าการซื้อหุ้นสามัญ จำนวน 40 ล้านบาท (2) มูลค่าชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมให้เต็มมูลค่าที่ตราไว้ จำนวน 6.98 ล้านบาท (3) มูลค่าการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการ (ไม่รวมส่วนทุนจดทะเบียนเดิม 16 ล้านบาท) จำนวน 1,234 ล้านบาท

อนึ่ง กรีน พาวเวอร์ เอ็นเนอร์จี เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะอุตสาหกรรม โดยได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 3.50 บาท/หน่วย เป็นเวลา 7 ปี นับจากวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ซึ่งล่าสุด กฟภ.ได้เลื่อนกำหนด COD ของโครงการนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.60 และอนุมัติการย้ายที่ตั้งโครงการไปยัง ต.ศาลาลำดวน อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว ซึ่งโครงการดังกล่าวปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างแล้ว 5% โดยใช้ระบบพลังความร้อน (Thermal Process)

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังมีมติให้บริษัท ซุปเปอร์ โซลาร์ เอนเนอร์ยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าซื้อหุ้นสามัญในบริษัทที่เป็นผู้สนับสนุนโครงการในการดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 12 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 48.20 เมกะวัตต์ ในสัดส่วนการลงทุน 49% ของทุนจดทะเบียน ใน 5 บริษัท รวมเป็นเงินลงทุน 1,256.24 ล้านบาท

สำหรับการลงทุน 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ไอ คิว เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (IQE) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 3 โครงการ รวม 15 เมกะวัตต์ ,บริษัท ไอ คิว โซล่า จำกัด เป็นผู้สนับสนุน 2 โครงการ รวม 7 เมกะวัตต์ , บริษัท เอ ไอ คิว เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (AIQ) เป็นผู้สนับสนุน 2 โครงการ รวม 2.5 เมกะวัตต์ ,บริษัท ไอคิว กรีน จำกัด (IQG) เป็นผู้สนับสนุน 1 โครงการ รวม 5 เมกะวัตต์ และบริษัท แอสต้า พาวเวอร์ จำกัด (ASTA) เป็นผู้สนับสนุน 4 โครงการ รวม 18.70 เมกะวัตต์

"ผมยืนยันเป้าหมายในปีนี้โรงไฟฟ้าทั้งหมดในกลุ่มจะมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ เพราะที่ผ่านมาเราลุยงานอย่างเต็มที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือแม้แต่การเข้าไปประมูลจากหน่วยงานราชการ และการร่วมมือกับพันธมิตร ดังนั้นก็จะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดไปจนถึงปี 60 ที่ตั้งเป้าหมาย COD ที่ 2,000 เมกะวัตต์ อย่างแน่นอน"นายจอมทรัพย์ กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/59 บริษัทพลิกมีกำไรสุทธิ 59.65 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 183.94 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกพลิกมีกำไรสุทธิ 77.30 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 217.56 ล้านบาท เนื่องจากบริษัท ทยอยรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามแผน โดยปัจจุบันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 700 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ