GPSC คาดผลงาน Q4/61 ถูกกระทบจากโรงไฟฟ้าหยุดซ่อมบำรุง-ต้นทุนก๊าซฯเพิ่ม ส่วน Q3/61 กำไรเพิ่มเล็กน้อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 5, 2018 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/61 จะถูกกระทบจากแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า และต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ขณะที่ค่าเอฟทียังคงเดิม แต่ยืนยันจะบริหารจัดการการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งจะทำให้ผลประกอบการอยู่ในระดับที่ดีเทียบกับปีก่อนได้ ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/61 กำไรปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากงวดปีก่อนหลังจากมีกำลังการผลิตเพิ่มตามแผนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 4/61 โรงไฟฟ้าศรีราชาจะหยุดซ่อมบำรุงตามแผนเกือบตลอดทั้งไตรมาส ส่งผลให้ค่าซ่อมบำรุงปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่รายได้ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ลดลง รวมทั้งโรงผลิตสาธารณูปการระยองและโรงไฟฟ้า IRPC -CP จะมีการหยุดซ่อมบำรุงเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้อัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ประจำงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.61 คงอยู่ที่ -15.90 สตางค์/หน่วย ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/61 ตามทิศทางการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อผลประกอบการและอัตราผลตอบแทนของบริษัท

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงยึดมั่นความเป็นเลิศในการบริหารจัดการการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีความมั่นคงในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทอยู่ในระดับที่เทียบเท่ากับปีก่อนได้

ส่วนการเข้าซื้อหุ้น บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) จะยังไม่อาจสำเร็จลงในอนาคตอันใกล้ แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทไม่ลดละที่จะแสวงหาโอกาสการเติบโตทางด้านอื่น ๆ ทั้งการเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจของกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และการเติบโตในต่างประเทศที่บริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศเมียนมาและลาว (Focus Country) โดยมีการศึกษาโอกาสการลงทุนและความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นว่าโครงการที่บริษัทจะตัดสินใจเข้าลงทุนแต่ละโครงการนั้น มีผลตอบแทนอยู่ในระดับที่ดี และมีความเสี่ยงในระดับที่จัดการได้

สำหรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนต้นแบบกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ยังคงอยู่ระหว่างการดำเนินการและพิจารณาอย่างรอบคอบในการลงทุนแต่ละขั้นตอน เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่จะนำไปพัฒนาต่อเนื่องได้ในเชิงพาณิชย์

ด้านนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ GPSC เปิดเผยว่า ผลประกอบการประจำไตรมาส 3/61 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 6,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 899 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านรายได้งวด 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.61) อยู่ที่ 18,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 60 ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,873 ล้านบาทปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 17%

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้รายได้และกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากการรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน เพาเวอร์ จำกัด เฟส 2 (IRPC-CP Phase 2) และโรงไฟฟ้าอิจิโนเซกิ โซล่า พาวเวอร์ 1 จีเค (ISP1) ในประเทศญี่ปุ่น เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4/60 ประกอบกับ ปัจจัยทางด้านราคาขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/61 ในส่วนของรายได้เพิ่มขึ้น 1% ขณะที่มีกำไรสุทธิ ลดลง 15% เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติยังคงเท่าเดิม จึงส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของศูนย์ผลิตสาธารณูปการ จังหวัดระยอง และโรงไฟฟ้า ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ (IRPC-CP) ลดลง ประกอบกับ รายได้ค่าความพร้อมจ่าย ของโรงไฟฟ้าศรีราชาปรับตัวลดลง จากอัตราค่าความผันแปรตามฤดูกาล (Weight Factor) ที่ลดลงในช่วงฤดูฝน

นอกจากนี้ในไตรมาส 3/61 บริษัทได้รับรายได้เงินปันผลจากบริษัท ราชบุรี เพาเวอร์ จำกัด (RPCL) เป็นจำนวน 135 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทยังคงแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่สามารถพัฒนาได้ตามแผนที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำลิก 1 (NL1PC) ประเทศสปป.ลาว กำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 40% มีเป้าหมายจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 62 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL) กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ประเทศ สปป.ลาว ซึ่ง GPSC ถือหุ้นอยู่ 25% คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4/62 และศูนย์ผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 จังหวัดระยอง(CUP 4) กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3/62 รวมถึงการเป็นหน่วยสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคให้กับกลุ่มปตท. และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ EEC ตามแนวทางการส่งเสริมของรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ